วงหารือ ‘เศรษฐา-8CEO’ ฟื้นเศรษฐกิจ ยืนยันทำได้ตามนโยบายหาเสียง

วงหารือ ‘เศรษฐา-8CEO’ ฟื้นเศรษฐกิจ ยืนยันทำได้ตามนโยบายหาเสียง

“เศรษฐา” หารือ 8 บิ๊กซีอีโอแบบไม่เป็นทางการ ดึงเอกชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ รับปากเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ทำตามนโยบายที่หาเสียง  “ดับบลิวเอชเอ” เสนอเร่งดึงการลงทุนช่วงมีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เจรจาเอฟทีเอไทย-อียู “สนั่น” หนุนเงินดิจิทัล แก้ปัญหาวีซ่าดึงนักท่องเที่ยวจีน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับภาคธุรกิจต่อเนื่องหลังจากที่ได้รับตำแหน่ง เพื่อรับฟังความเห็นในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน

ล่าสุดนายเศรษฐาได้พบกับผู้บริหารบริษัทระดับประเทศ 8 ราย เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 เพื่อแสดงความยินดี พร้อมรับฟังความเห็นภาคธุรกิจและรับประทานอาหารค่ำ โดยนัดหมายเวลาประมาณ 19.00 น.ที่บ้านของนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

การหารือครั้งนี้ นายเศรษฐา ต้องการให้เป็นแบบไม่เป็นทางการ โดยนายเศรษฐาต้องการทราบความต้องการเร่งด่วนของภาคเอกชน  และบอกกับผู้ร่วมหารือว่า ต้องการพิสูจน์ให้ประชาชนมั่นใจว่าการหาเสียงไว้สามารถทำได้ตามได้ ซึ่งจะมีการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน แต่จำเป็นจะต้องรับทราบข้อมูลและปัญหาเร่งด่วนและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว

นักธุรกิจที่เข้าร่วมหารือ 8 ราย ประกอบด้วย 1.นายวิชิต 2.นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

3.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ 4.นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

5.นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6.นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริษัทศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

7.นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) 8.นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์

วงหารือ ‘เศรษฐา-8CEO’ ฟื้นเศรษฐกิจ ยืนยันทำได้ตามนโยบายหาเสียง

 

นายเศรษฐา ระบุผ่านการโพสต์ภาพและข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ ในชื่อบัญชี @Thavisin โดยระบุว่า “มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ มีประโยชน์มากครับกับการพัฒนาประเทศ ขอบคุณท่าน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย และแขกทุกท่านในวันนี้มากครับ ที่มาร่วมแสดงความยินดี”

นางสาวจรีพร กล่าวว่า การเข้าพบครั้งนี้นายกรัฐมนตรีใหม่ต้องการรับฟังความเห็นของนักธุรกิจเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ และต้องการรับทราบว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศอย่างไร รวมทั้งมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร 

ทั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ศึกษาข้อมูลงานในแต่ละด้านจำนวนมาก และเดินสายหารือกับนักธุรกิจมาแล้วหลายกลุ่ม เช่น สายการบิน 8 สายการบิน และหน่วยงานด้านการบินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูการท่องเที่ยว

“นายกรัฐมนตรีต้องการให้นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเสนอถูกอิมพลีเมนต์มากที่สุด จึงได้รับฟังความเห็นของนักธุรกิจหลายกลุ่ม และการที่พบกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้มี CEO ที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านที่ได้เสนอความเห็นทั้งด้านการเงิน การเกษตร การศึกษาและการท่องเที่ยว เป็นข้อเสนอที่ CEO แต่ละรายจะเข้ามาช่วยงานรัฐบาลได้อย่างไร”นางสาวจรีพร กล่าว

เร่งเจรจาเอฟทีเอหนุนลงทุน

นอกจากนี้ WHA ได้เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการให้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อดึงการลงทุน โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความขัดแย้งในบางประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการดึงลงทุนเข้ามาเป็นคลัสเตอร์ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อได้รัฐบาลแล้วจะทำให้นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

 

รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของการเจรจา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีความสนใจในการเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีการหารือถึงการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วยเช่นกัน

เสนอปัญหาวีซ่าดึงนักท่องเที่ยวจีน

นายสนั่น กล่าวว่า ได้พบปะกับนายเศรษฐาเพื่อแสดงความยินดีที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบรรยากาศเป็นแบบกันเองไม่เป็นทางการโดยหอการค้าได้หยิบยกประเด็นเศรษฐกิจเร่งด่วนฝากให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา 3 ประเด็น คือ 

1.ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนโดยเร็วเพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักประเทศ  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ขณะนี้มีปัญหาวีซ่าไม่ได้รับความสะดวก จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากขึ้น รวมทั้งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มาเที่ยวไทยแล้วปลอดภัย เพราะมีการปล่อยข่าวว่ามาเที่ยวไทยแล้วไม่ปลอดภัย

รวมทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากขึ้น เพราะขณะนี้รัฐบาลจีนส่งเสริมคนจีนเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่คนจีนส่วนใหญ่ต้องการเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งการเที่ยวสหรัฐหรือยุโรปมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ชาวจีนมีรายได้ลดลงจากเศรษฐกิจชะลอ ดังนั้นไทยจึงเป็นเป้าหมายที่ต้องการมา และถ้าไทยเร่งประชาสัมพันธ์หรือเพิ่มความสะดวกในวีซ่าจะเป็นแรงจูงใจมากขึ้น

นอกจากนี้เสนอให้เพิ่มเที่ยวบินไทย-จีนให้มากที่สุด ซึ่งสายการบินในไทยอาจจะเพิ่มได้ไม่เร็ว เพราะการบินไทยอยู่ช่วงฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเร่งเจรจาสายการบินอื่นมาให้บริการ ขณะที่ความพร้อมสนามบินล่าสุดนายเศรษฐาลงพื้นที่ภูเก็ตและพังงาแล้วเป็นไปได้ที่จะขยายสนามบินรองรับไฟท์บินและผู้โดยสาร

เอกชนหนุนเงินดิจิทัล1หมื่นบาท

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องเร่งทำ โดยเห็นด้วยกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่คงใช้ได้ช่วงสงกรานต์ปี 2567 ซึ่งจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในระบบบล็อกเชน และนโยบายเงินดิจิทัลต้องใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1.0-1.5 ล้านล้านบาท กระตุ้นจีดีพี 3% และถ้าปีหน้ามูลค่าการส่งออกดี รวมทั้งมีการกระตุ้นเศรษฐกิจดี สวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวคาดว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว5%

3.ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันการส่งออก แม้ว่ามูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค.2566 จะติดลบ 5% แต่ติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น เวียดนามติดลบ 2 หลัก โดยหอการค้าไทยเชื่อว่ามูลค่าการส่งออกช่วงปลายปีจะดีขึ้น ซึ่งช่วงปลายปี 2565 มูลค่าการส่งออกเริ่มติดลบเพราะประเทศคู่ค้ามีสต๊อกมากจึงชะลอการสั่งซื้อ แต่สต๊อกสินค้าปีนี้เริ่มลดลงทำให้มีคำสั่งซื้อมากขึ้น

“เศรษฐา”ยืนยันดันอีอีซีต่อ

สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งหอการค้าไทยตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีในนโยบายพรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐายืนยันว่า เป็นโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องและเป็นการดำเนินการระยะยาว เพียงแต่ที่เห็นขณะนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลออกมามาตรการช่วยเอสเอ็มอีด้านแหล่งเงินทุน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งกระทบผลผลิตการเกษตร โดยต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการรับมือเร่งด่วน เช่นการกักเก็บน้ำการหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งจะช่วยการจ้างงานในพื้นที่ด้วย

“ภาคเอกชนมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นในตนเองและพร้อมบริหารประเทศ ประกอบกับมีทีมงานที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ เช่น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ซึ่งน่าขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจได้เร็ว และเมื่อรัฐบาลใหม่เริ่มทำงานจะขอเข้าพบอีกครั้งในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” นายสนั่น กล่าว

รับมืองบปี 67 ล่าช้า 8 เดือน

แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบประมาณคาด พ.ร.บ.งบประมาณราจ่ายประจำปี 2567 จะล่าช้า 8 เดือน โดยได้ประสานส่วนราชการจัดทำแผน 8 เดือน สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายในระหว่างรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้

รวมทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไปพลางก่อนระหว่างที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้เพื่อให้หน่วยราชการจัดทำแผนปฏิบัติงาน ละการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็นที่ต้องใช้หรือก่อหนี้ผูกพันระหว่าง 1 ต.ค.2566 ถึง 31 พ.ค.2567 รวม 8 เดือน

ส่วนการใช้งบกลางจะใช้ได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของกรอบวงเงินและรายการ โดยหน่วยราชการต้องส่งแผนปฎิบัติการให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้

แหล่งข่าว กล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 จะมีผลบังคับใช้หลังเดือน พ.ค.2567 จากเดิมที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะล่าช้า 6 เดือนเท่านั้น โดยกระทบเศรษฐกิจปีนี้ 0.05% ส่วนผลกระทบปี 2567 มีเล็กน้อยเพราะงบประมาณลงทุนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจำนวนมากอยู่ครึ่งหลังปีงบประมาณ หรือไตรมาส 2-3 ของปีปฏิทิน 

ดังนั้น กระทรวงการคลัง คาดว่าตลอดทั้งปีงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ 2567 ที่มีกรอบวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 92.6% ลดลงเล็กน้อยจากอัตราเบิกจ่ายกรณีปกติที่ 93.4% โดยรายจ่ายประจำ 2.62 ล้านล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 99.2% เท่ากับกรณีปกติ ส่วนรายจ่ายลงทุน 7.1 แสนล้านบาท จะเบิกจ่ายได้ 68% ลดลงจากอัตราเบิกจ่ายกรณีปกติที่ 74%