ยางรถยนต์ไฟฟ้า โอกาสของผู้ประกอบการไทยใน EEC

ยางรถยนต์ไฟฟ้า  โอกาสของผู้ประกอบการไทยใน EEC

ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

ซึ่งให้บริการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานยางรถยนต์ ซึ่งครอบคลุมไปถึงยางรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ATTRIC ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เปิดให้บริการ มีผู้ประกอบการมาใช้บริการแล้วกว่า 300 ราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศราว 30-50%

นอกจากนี้ ภาครัฐยังเร่งผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ทำให้ในปี 2565 มีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 16 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 55.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงเกือบ 6 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 54.4 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งใน supply chain ที่สำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตตามไปด้วย

คำถามน่าสนใจที่ตามมาคือ ทำไมผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรต่อยอดไปสู่การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้จำเป็นที่ผู้อ่านต้องทำความรู้จักกับคุณสมบัติของยางรถยนต์ไฟฟ้าก่อน

ยางรถยนต์ไฟฟ้ามีจุดเด่นที่เหนือกว่ายางรถยนต์ทั่วไป ดังนี้ 1)ช่วยลดเสียงรบกวนจากท้องถนน 2)รับน้ำหนักได้มากกว่ายางรถยนต์ปกติ 3)สามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า 4)ทนทานต่อแรงบิดสูง ดังนั้น กระบวนการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างจากผลิตยางรถยนต์ทั่วไป เช่น มีการออกแบบดอกยางให้มีลักษณะขนาดเล็กกว่ายางรถยนต์ปกติ และมีการจัดวางระยะพิทช์ของยางต่างจากยางรถยนต์ทั่วไป

กลับมาคำถามที่ว่า ทำไมผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรต่อยอดไปสู่การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า?

ประการแรก ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยางรถยนต์ไฟฟ้ามีแรงต้านการหมุนต่ำ ทำให้ สามารถขับขี่ได้ไกลขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยลดมลภาวะทางเสียงได้อีกด้วย

ประการที่สอง ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีหลายด้าน เช่น การยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้การผลิต ในกรณีที่ผลิตเพื่อส่งออกจะได้ยกเว้นภาษีอากรการนำวัตถุดิบด้วย

ประการสุดท้าย เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากยางรถยนต์ไฟฟ้ามีอายุการใช้งานมากกว่ายางรถยนต์ปกติ จึงสามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18%

Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะแรกผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืนด้วย