ส่องเมกะโปรเจกต์ค้างท่อ รอรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เคาะสนิม

ส่องเมกะโปรเจกต์ค้างท่อ รอรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เคาะสนิม

ส่องโครงการลงทุนคมนาคม รอรัฐบาลใหม่เคลียร์ “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก” สร้างงานโยธาเสร็จ 100% แต่เดินรถไม่ได้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” รอรัฐบาลหนุนงบล้างหนี้ 7 หมื่นล้าน ขณะที่รถไฟความเร็วสูงอีอีซีรอแก้สัญญา พร้อมดันประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2

โครงการลงทุนภาครัฐในขณะนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงเกียร์ว่าง งานสะดุด หลังจากที่ไม่มีรัฐบาลอำนาจเต็มเข้ามาตัดสินใจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีสัญญาผูกพันและเกี่ยวเนื่องกับภาคเอกชน ที่ขณะนี้ยังคงค้างคาแม้ว่างานก่อสร้างจะเดินหน้าแล้วเสร็จ ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ยังเจอสารพัดปัญหารอการแก้ไขนั้น อาทิ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

เนื่องจากโครงการนี้ถูกพ่วงสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์ดีที่สุด แต่เป็นการประมูลที่ถูกตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น หลักเกณฑ์ตัดสินผู้ชนะประมูล ข้อเสนอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง การกำหนดเงื่อนไขผู้เข้าประมูลที่อาจเข้าลักษณะการกีดกัน

ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปสถานะโครงการก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนนั้น แม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกแตกต่างจากการประกวดราคาครั้งแรก ซึ่งบทสรุปของโครงการรถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นอย่างไร ยังคงต้องรอการพิจารณาจากศาลปกครอง แต่ความชัดเจนที่เห็นชัด คือโครงการนี้ล่าช้าจากแผนประมาณ 2 ปี

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยโครงการนี้เป็นปัญหาระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาระหนี้คงค้างกับเอกชนคู่สัญญารวมประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังมีภาระที่ต้องรับโอนบริหารโครงการจาก รฟม.ซึ่งต้องชำระค่างานโยธาก่อสร้างส่วนต่อขยายรวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยหาก กทม.ยังไม่สามารถเคลียร์หนี้และรับโอนสิทธิบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมาดูแล ก็จะทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าว และไม่มีเงินสะสมเพื่อไปชำระค่าจ้างแก่เอกชนตามสัญญา

โดยปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาล “ประยุทธ์” สู่รัฐบาล “เศรษฐา” ที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะหากยังยืดเยื้อจะทำให้ภาระหนี้ดังกล่าวเกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งก่อนหน้านี้ทาง กทม.ยังออกมาระบุด้วยว่า ต้องการขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่ง ครม.ในรัฐบาลประยุทธ์ ยังไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด และทำได้เพียงรับทราบเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลใหม่พิจารณา

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

โครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ภาพรวมในขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนมาแล้วกว่า 2 ปี ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากเอกชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

นอกจากนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปของการก่อสร้างโครงการทับซ้อนระหว่างรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดสามสนามบินในการลงทุนก่อสร้าง และภาครัฐจะมีการทยอยจ่ายเงินค่าก่อสร้างทดแทน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท.และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) และเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยปัจจุบันเมื่อการเจรจายังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้การแก้ไขสัญญายังไม่สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณา

โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2

โดยในช่วงที่ผ่านมาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทางยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าทุกเส้นทางมีความจำเป็นในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ แก้ไขปัญหาคอขวดของแนวเส้นทาง โดยเส้นทางที่มีความพร้อมและมีความเป็นไปได้ในการผลักดันส่วนแรก คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงินลงทุนกว่า 29,700 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางนี้จะสนับสนุนการขนส่งสินค้า และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง มีวงเงินลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 26,600 ล้านบาท

2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท

3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท

4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท

5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท

6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท

7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 6,660 ล้านบาท