สสว.-ส.อ.ท. ร่วมจัดงาน SME GP DAY ดันผู้ประกอบการโต ขยายเป้าจัดซื้อแตะ 50%

สสว.-ส.อ.ท. ร่วมจัดงาน SME GP DAY ดันผู้ประกอบการโต ขยายเป้าจัดซื้อแตะ 50%

สสว. จับมือ ส.อ.ท. จัดงาน SME GP DAY: รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย ขยายโอกาสเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งเป้าขยับสัดส่วนแตะ 50% เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่มาตรการหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า มาตรการ THAI SME-GP เป็นมาตรการสำคัญที่กรมบัญชีกลาง ร่วมกับ สสว. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอีที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. หรือ THAI SME-GP หากการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 500,000 บาท จะต้องซื้อจากเอสเอ็มอีก่อน โดยให้แต้มต่อด้านราคา 10% และถ้าได้รับการรับรอง Made in Thailand หรือ MiT ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้แต้มต่อเพิ่มอีก 5% รวมเป็น 15% 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทะเบียนในระบบ THAI SME-GP สูงถึงกว่า 150,000 ราย มีสินค้าและบริการให้เลือกซื้อกว่า 1,100,000 รายการ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ที่มาตรการมีผลบังคับใช้ในปี 2563 กำหนดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอีอยู่ในระดับไม่เกิน 30% ขยับสูงขึ้นเป็น 41% ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 481,831 ล้านบาทในปี 2565 

ดังนั้น สสว.จึงได้ผลักดัน SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 สสว. ได้จัดกิจกรรม Roadshow ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงตลาดภาครัฐและขยายขอบเขตไปยังภาคเอกชน โดยมุ่งหวังให้ SME สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 45% ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด และมีเป้าหมายจะผลักดันไปจนถึง 50% เพื่อให้เอสเอ็มอีสร้างรายได้และมูลค่าเศรษฐกิจได้มากขึ้น 

โดยจากกิจกรรม Roadshow สสว.ได้เก็บข้อมูลแบบสอบถามหน่วยงานภาครัฐถึงกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อจากเอสเอ็มอีสูง ได้แก่ อุปกรณ์สำนักงาน คิดเป็น 76.28% เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 74.63% อุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องมือช่าง72.15% ขณะที่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายอยู่ที่ 37.17% และอาหารและเครื่องดื่ม 15.81%

นอกจากนี้ สสว. เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ออกมาตรการหนุนปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทบทวนและปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งกระบวนการ ขั้นตอน ในการขออนุญาตที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเริ่มดำเนินกิจการได้ รวมทั้งมาตรการช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้หากได้รับการแก้ไขเพื่อลดปัญหาจะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ได้ออกแบบงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อเอสเอ็มอี โดยจัดกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ก่อสร้างและเครื่องมือช่างเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สินค้าและบริการด้านการแพทย์ สินค้าและบริการด้านดิจิทัล และสินค้าที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand รวมกว่า 100 กิจการ

นอกจากนี้ ภายในงานยังออกแบบให้มีทั้งกิจกรรมเจรจาธุรกิจทั้งแบบ B2B และ B2C ตลอดทั้ง 3 วัน ทั้งกับภาครัฐและเอกชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทะเบียนเข้างานจะได้รับนามบัตรดิจิทัล D-Card เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าได้สะดวกและลดต้นทุน

“นอกจากโอกาสทางการค้าและได้จับจ่ายซื้อของภายในงานยังมีไฮไลท์ต่างๆ เพื่อให้บริการผู้ประกอบการตลอด 3 วัน อาทิการบริการขึ้นทะเบียน THAI SME-GP และ SME ONE ID การบริการสนับสนุนค่าใช้จ่ายพัฒนาธุรกิจภายใต้โครงการ BDS (SME ปังตังได้คืน) การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปยังจะได้รับความรู้และความบันเทิงตลอด 3 วันไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสถานการณ์SME การอัปเดตเทรนด์การตลาดปี 2567 การบริหารต้นทุนในกิจกรรมสำหรับ SME การวางฮวงจุ้ยอย่างไร ให้ออฟฟิสปังถือเป็นการจัดงาน SME GP DAY หนึ่งปีมีครั้งเดียว มางานเดียวได้ครบทั้งความรู้และโอกาสทางธุรกิจ ยังได้อัปเดตเทรนด์สินค้าใหม่ๆ และสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ถูกใจ พร้อมรับของสัมมนาคุณอื่นๆ อีกมากมาย

โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 ส.ค. 2566 ณ HALL 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายและโอกาสทางธุรกิจภายใต้โครงการได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท และเกิดมูลค่าเศรษฐกิจจากมาตรการ THAI SME-GP มากกว่า 4 แสนล้านบาท