การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าเอเปค และ IPEF หลังโควิด และไทยควรทำอะไรต่อ?

การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าเอเปค และ IPEF หลังโควิด และไทยควรทำอะไรต่อ?

เดือนสิงหาคมนี้ การประชุมเอเปคที่นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกากำลังเริ่มขึ้นอีกครั้ง ประเทศไทยในฐานะผู้จัดการประชุมเอเปคครั้งที่แล้ว ยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ใน Bangkok Goals

ในการนี้ สหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการประชุม IPEF หรือ Indo-Pacific Economic Framework ที่หารือเรื่อง 4 เรื่องคือ การค้า เศรษฐกิจสะอาด เศรษฐกิจยุติธรรม ( Fair Economy) และห่วงโซ่อุปทานขนานกันไป 

ผลการประชุมทั้งสองได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวที่เห็นชัดของเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกและอินโดแปซิฟิก ซึ่งพยายามสร้างการแข่งขันทางธุรกิจและการค้าให้เกิดขึ้นใหม่

หลังจากที่ธุรกิจการค้าการส่งออกนำเข้าและห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสายการเดินเรือต้องดิสรัปท์ เพราะกลไกตลาดไม่ทำงานทั้งระบบในช่วงโควิดเป็นเวลานานถึงสี่ปีที่ผ่านมา

    ภายใต้การฟื้นตัวเพื่อแข่งขันใหม่หลังปรากฏการณ์ โควิด19 สัญญาณชีพเศรษฐกิจที่เริ่มต้นใหม่ได้เริ่มปรากฏชัดเจน และประเทศต่าง ๆ ได้ริเริ่มโครงการฟื้นตัวทางธุรกิจและเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรวมถึง

1.อาเซียนจะบรรลุการจัดทำข้อตกลงการแข่งขันทางการค้าเพื่อกำกับดูแลธุรกิจการค้าในเขตเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ โดยพัฒนานโยบายและมาตรฐานด้านกฎหมายของธุรกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส เศรษฐกิจ BCG  หรือ Bio Circular Green  เศรษฐกิจ AI และอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน

เรียกข้อตกลงนี้ว่า ASEAN Agreement on Competition เพื่อดึงดูดธุรกิจการค้าการลงทุนจากทั่วโลก และเพื่อให้ธุรกิจขนาดย่อยเล็กย่อมกลางใหญ่ของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถลงสนามแข่งขันและดึงดูดการค้า   การลงทุนจากทั่วโลกสอดคล้องกับ ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ASEAN Centrality

    2.การกลับมาแข่งขันอีกครั้งในกลุ่มประเทศเอเปค 21ประเทศ และของอินโดแปซิฟิก 14 ประเทศ ได้เริ่มมีสัญญาณพลิกตัวจากเศรษฐกิจถดถอยอย่างร้ายแรงและคาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก จะเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2022 เป็น 4.2% ในปี 2023 และอาจเพิ่มเป็น 4.7% ในปี 2024

และในเอเปคปีนี้สหรัฐอเมริกาได้เสนอแนะให้บังคับใช้วินัยการเงินการคลัง และกฎหมายแข่งขันการค้าการกำกับดูแลธุรกิจการค้าและการลงทุนอย่างเคร่งครัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อหลังโควิด 19 

การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าเอเปค และ IPEF หลังโควิด และไทยควรทำอะไรต่อ?

3. สำหรับจีนและอินเดีย จีนเพิ่มจาก 3% ในปี 2022 เป็น 5.3% ในปี 2023 ส่วนเศรษฐกิจอินเดีย   ยังโตอย่างรวดเร็วถึงแม้จะลดลงจาก 8.7% ในปี 2021-2022 มาเป็น 7.2% ในปี 2022-2023 แต่คาดว่าจะยังโตได้เร็วที่สุดในอัตราเฉลี่ย 6.7% ในอีก 3 ปีข้างหน้า และ อาเซียนซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาการฟื้นตัวของจีนอย่างมาก

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในปี 2023 ยังสามารถโตได้ 5.5% และบริษัทขนาดย่อยเล็กย่อมกลางใหญ่หรือ MSMEs ต่างใช้โอกาสนี้พลิกตัวแรงกลับมาจ้างงานและสร้างผลิตภาพใหม่ รวมทั้งสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ โดยดัชนีการผลิต PMI ของไทยนำโด่งกลุ่มประเทศต่าง ๆ 58.2% ในเดือนพฤษภาคม ลดลงจาก 60.4% ในเดือนเมษายน

    4. ดังนั้นนักวิชาการทุกฝ่าย จึงมีความเห็นพ้องว่า การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันและนโยบายแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มแข็ง และการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำขณะนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งจะสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถทางการแข่งขัน ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอินโดแปซิฟิกรวมทั้งสร้างสัปปายะนิเวศ (หรือ Ecosystem) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

    สำหรับประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคมนี้ ได้มีการลงนามใน MOU ระหว่างสำนักงานแข่งขันทางการค้า หรือ สขค และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว ) เพื่อสนับสนุนการสร้างการแข่งขันใหม่ ( New Competition ) ภายใต้ดิสรัปชั่นของกลไกตลาดโลกและการจัดทำแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13

เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันใหม่ ( New Competitiveness ) และสำนักงานแข่งขันทางการค้าได้ร่วมมือกับสสวและสภาพัฒน์ ร่วมมือปักหมุดการสร้างการแข่งขันทางการค้าให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นส่วนสำคัญของการขจัดความเหลื่อมล้ำภายใต้แผน 13 เป็นครั้งแรก

การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าเอเปค และ IPEF หลังโควิด และไทยควรทำอะไรต่อ?

ดังนั้น ประเทศไทยใน 3-5 ปีข้างหน้า จึงต้อง
    1.รักษาโมเมนตัมและสมดุลยด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลักดันการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเปิดกว้างการค้าเสรีให้มีการทำธุรกิจทางการค้าการลงทุนโดยสะดวก ( Trade and Business Facilitation )

ซึ่งรวมถึงการเจรจาเปิดการค้าเสรีใหม่ ขจัดอุปสรรคทางการค้าภายใน สร้างความยุติธรรมการทำการค้าธุรกิจที่ทัดเทียมและยุติธรรม ( Level Playing Field ) และเปิดกว้างต่อธุรกิจระหว่างประเทศ และการลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

    2. ยกเลิกและ/หรือแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายที่เอื้อให้มีการผูกขาดโดยรัฐ เช่น โดยรัฐวิสาหกิจและ/หรือมติครมต่างๆที่เปิดให้มีการผูกขาดตลาดโดยรัฐรวมทั้งบริษัทลูกต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจที่อาจผูกขาดตลาด หรือออกกฎหมายที่ทำให้กลไกตลาดบิดเบือนโดยรัฐ หรือแทรกแซงโดยรัฐ

และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ยกเว้นในประเด็นความมั่นคงและประโยชน์ส่วนรวม

    3. ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวด มีประสิทธิผล และให้สอดคล้องกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 โดยให้มีการกำกับดูแลที่กวดขันโดยคำนึงถึงบทลงโทษทางกฎหมายแข่งขันทางการค้า

    4. กฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายฉบับปฏิรูปที่รัฐบาลออกแบบให้มีการแก้ไขปรับปรุงได้ รวมทั้งต้องทำข้อเสนอในการปรับปรุงให้รัฐบาลพิจารณา และต้องจัดให้มีการจัดทำประชามติในเรื่องดังกล่าว จึงต้องจัดทำการวิจัยตลาดตัวสินค้าและบริการอย่างสม่ำเสมอ

ตลอดจนจัดระบบระเบียบข้อบังคับประกาศและแนวทางพฤติกรรมทางการค้าเชิงนวัตกรรมให้ทันสมัยต่อการทำธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจมาร์เก็ตเพลส และ ธุรกิจ AI ตลอดจนลักษณะความผิด (Theory of Harms ) และวิธีพิจารณาคดีเหล่านี้

รวมทั้งในปริบท Cross Border Cartel (CBC) (มาตรา58 ) อีกทั้งวิธีการสืบสวนสอบสวนเชิงชันสูตร( Forensics ) ร่วมกับผู้รู้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ 

การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าเอเปค และ IPEF หลังโควิด และไทยควรทำอะไรต่อ?

    5. และสุดท้ายสำนักงานแข่งขันทางการค้าควรเร่งจัดทำ Action Plans เพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐและเอกชนไทยในการเร่งสนับสนุน เศรษฐกิจ BCG โดยสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้ามาแข่งขันในตลาดไทยและเอเชียแปซิฟิก 

ซึ่งไทยได้บรรจุเรื่องการแข่งขันทางการค้านี้ไว้ในสภาเศรษฐกิจของเอเปคแล้วเช่นกัน และต้องไม่ปล่อยให้บริษัทยักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศผูกขาดตลาด อีกทั้งภายใต้ข้อตกลงพหุภาคีห่วงโซ่อุปทานอินโดแปซิฟิก 14 ประเทศฉบับแรกของโลก

ประเทศไทยก็ควรมีบทบาทในการผลักดันฟื้นฟู Supply Chains ไทย และสร้างนวัตกรรมให้สอดรับกับการฟื้นตัวของภูมิภาคเอเปคและอินโดแปซิฟิกนี้ด้วย

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 
กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์
ประธานผู้จัดการประชุม
คณะทำงานนโยบายและกฎหมายแข่งขันทางการค้า
ภายใต้คณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค