'สหรัฐ-จีน'เพิ่มช่องทางสื่อสาร ลดสัมพันธ์ตึงเครียดก่อนเอเปค

'สหรัฐ-จีน'เพิ่มช่องทางสื่อสาร ลดสัมพันธ์ตึงเครียดก่อนเอเปค

“จีนา ไรมอนโด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ หารือ “หวัง เหวินเทา” รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่วอชิงตัน ถือเป็นการประชุมทวิภาคีของเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีครั้งแรก

“จีนา ไรมอนโด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ หารือ “หวัง เหวินเทา” รัฐมนตรีพาณิชย์จีน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่วอชิงตัน ถือเป็นการประชุมทวิภาคีของเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีครั้งแรก นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศอยู่ในภาวะอึมครึม จากปมเครื่องบินรบสหรัฐยิงบอลลูนสอดแนมของจีนตกนอกชายฝั่งเซาท์แคโรไลนาในเดือน ก.พ.

การหารือร่วมดังกล่าวเกิดขึ้น หลัง “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ของสหรัฐย้ำผ่านการแถลงข่าวสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐ-จีนจะดีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่ขณะที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจร่วมกันนั้น รัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่งยังคงมีความขัดแย้งกันในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของสองประเทศ

การหารือของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ-จีน เกิดขึ้นหลังจากการพูดคุยกันของ “เจก ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐและ “หวัง อี้” นักการทูตระดับสูงของจีน เมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. ซึ่งในการหารือร่วมกันที่เวียนนาที่กินเวลานานกว่า 8 ชั่วโมง นั้นทั้งคู่ตกลงที่จะจัดให้มีการประชุมของเจ้าหน้าที่รัฐระดับอาวุโสของทั้งสองประเทศต่อไป
 

“แคทเธอรีน ไท่” ผู้แทนการค้าของสหรัฐ เตรียมพบกับหวังในสัปดาห์นี้ ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐ

ขณะที่“อีวาน เมเดรอส” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายจีนในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา กล่าวว่า ตอนนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เริ่มวางแผนที่จะเดินทางมายังนครซานฟรานซิสโก เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.แล้ว

“ผมคิดว่า จีนทราบดีว่าการเปิดเจรจาเป็นผลประโยชน์ต่อจีนในการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เพราะประธานาธิบดีสี ต้องเดินทางมายังสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปค สหรัฐ-จีนต้องสร้างความสัมพันธ์กันใหม่ ไม่อย่างนั้นประธานาธิบดีสี คงรู้สึกอึดอัดและไม่สะดวกใจที่ต้องเข้าร่วมประชุมเอเปคในสหรัฐ” เมเดรอส ให้ความเห็น 

 อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง2ประเทศพยายามจัดให้มีการหารือเพื่อบรรเทาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกัน แต่เทคโนโลยีจากจีน ก็มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เข้าไปทำตลาดในสหรัฐ  เนื่องจากรัฐบาลวอชิงตันควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไปยังจีนอย่างเข้มงวด  ส่วนรัฐบาลปักกิ่งก็พยายามสกัดกั้นไมครอน บริษัทชิปสัญชาติสหรัฐเมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค.) ที่ผ่านมา

“จู๊ด แบลนเชตต์” ประธานฝ่ายเสรีภาพการศึกษาจีน จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ให้ความเห็นว่า "ต้องอย่าลืมว่า สหรัฐ-จีน ยังมีความสัมพันธ์ที่เคลือบแคลงใจกันอยู่มาก สัญญาณของการสร้างสัมพันธ์ใหม่ที่เราเห็นเกิดขึ้นเร็วมากและมีความไม่แน่นอน ที่สำคัญฉันไม่คิดว่าทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน” แบลนเชตต์ กล่าว

ด้าน“เอลี แรตเนอร์” เจ้าหน้าระดับสูงในกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวในงานที่ซีเอสไอเอสเป็นเจ้าภาพเมื่อวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ว่า "ลอยด์ ออสติน" รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ มีกำหนดเยือนสิงคโปร์ช่วงต้นเดือน มิ.ย. นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่สำคัญ

แรตเนอร์ ยังบอกด้วยว่า ออสตินพยายามขอเข้าพบ “พลเอกหลี่ ชางฟู” รัฐมนตรีกลาโหมของจีน แต่ทางการจีนยังไม่ตอบตกลง

“หลายสัปดาห์ก่อน กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ติดต่อขอเข้าพบพลเอกหลี่แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากคำรองขอดังกล่าว” แรตเนอร์เผย และย้ำว่า “เราคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญทั้งในยามสงบและยามวิกฤติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดหรือการคาดการณ์ที่ผิดพลาด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติที่ไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคต”แรตเนอร์ กล่าว

พลเอกหลี่ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีนเมื่อเดือน มี.ค. ถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเครื่องบินรบขั้นสูงและระบบป้องกันขีปนาวุธของรัสเซีย ตั้งแต่ปี 2561

“บอนนี เกลเซอร์” ผู้เชี่ยวชาญชาวจีน จากกองทุนการ์แมน มาร์แชลของสหรัฐ บอกว่า “ถ้าสหรัฐไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรพลเอกหลี่ การหารือของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐและจีน อาจไม่เกิดขึ้น”