'สภาพัฒน์' เร่งงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้าน อุดช่องว่างสุญญากาศการเมือง

'สภาพัฒน์' เร่งงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้าน อุดช่องว่างสุญญากาศการเมือง

สศช.เร่งดันงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.4 แสนล้าน ลงระบบเศรษฐกิจในใตรมาส 4 ปีนี้ จากเงินลงทุนตามปีงบประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และเงินลงทุนผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการลงทุนในปีงบประมาณ 2567 ที่เตรียม ชงบอร์ดอนุมัติอีก 2 แสนล้าน หวังช่วยพยุงเศรษฐกิจช่วงสุญญากาศทางการเมือง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าระหว่างที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ และการประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งตามปกติต้องเริ่มต้นตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 เป็นต้นไปจะเกิดความล่าช้า ทาง สศช.จึงหาทางเร่งรัดให้มีเงินลงเข้าสู่ระบบในช่วงไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.)ของปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเร่งรัดให้มีเงินจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบ

โดยมีวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจอยู่รวมกว่า 3.42 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีปฎิทิน วงเงินประมาณ 142,731 ล้านบาท และงบลงทุนที่เป็นงบผูกพันของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีงบประมาณอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) สศช.ในสัปดาห์หน้า

“ตอนนี้ต้องไปหารือกันในบอร์ด สศช. ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะโครงการที่เป็นงบผูกพันก็อยู่ในแผนดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้หากได้ข้อสรุปจากบอร์ด แล้ว สศช. จะรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด มาเสนอที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณารับทราบมติบอร์ดเป็นขั้นตอนต่อไป”

สำหรับการใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจเข้าไปดำเนินการในครั้งนี้ สศช. มองว่า จะเป็นหนึ่งตัวช่วยของการประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 โดยเฉพาะในช่วงที่การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2566 ทำให้ไม่มีโครงการลงทุนใหม่ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทัน ดังนั้นจึงต้องใช้กลไกของงบประมาณจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้าไปดำเนินการแทน

เปิดรายละเอียดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจตามปีงบประมาณ

ส่วนรายละเอียดงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบตามปีปฎิทิน 142,731 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทมหาชน รวม 97,545 ล้านบาท ประกอบด้วย

- บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) 92,289 ล้านบาท

- บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)หรือ NT 5,172 ล้านบาท

- บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) 82 ล้านบาท

และกลุ่มรัฐวิสาหกิจทั่วไป 45,186 ล้านบาท ประกอบด้วย

- รัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงพลังงาน รวม 13,468 ล้านบาท ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 12,597 ล้านบาท บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (E-inter) 587 ล้านบาท บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (dcap) 284 ล้านบาท

- รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย 30,783 ล้านบาท ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง 11,802 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 18,980 ล้านบาท

- รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 829 ล้านบาท และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 105 ล้านบาท

ส่วนที่มีข่าวงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 24 แห่ง วงเงิน 149,382 ล้านบาท สะดุดจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเป็นงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต้องขอใช้จากงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จก่อนเพื่อมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2567 และจะใช้เงินก้อนนี้ได้เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาและประกาศออกมาเป็นกฎหมายก่อนนั้น เป็นงบคนละก้อนกับที่ สศช.นำเสนอ

คณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายรายงาน ครม.

นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 อยู่แล้ว และสามารถทำได้ตามบริบทที่มีอยู่ ล่าสุดในการประชุมครม. ก็ได้รับทราบการรายงานผลการใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า ทำได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน สามารถทำได้จำกัด เพราะงบลงทุนใหม่ยังไม่สามารถดำเนินการได้

แต่อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการครม. ได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังสามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญและมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับคำตอบว่า การอนุมัติงานหรือโครงการ ตาม มาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยมีสาระสำคัญต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งการกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดใหม่จะกระทำมิได้ เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง