งบรัฐวิสาหกิจสะดุด 1.4 แสนล้าน เมกะโปรเจ็กต์เลื่อนรอรัฐบาลใหม่

งบรัฐวิสาหกิจสะดุด 1.4 แสนล้าน เมกะโปรเจ็กต์เลื่อนรอรัฐบาลใหม่

งบลงทุนรัฐวิสาหกิจสะดุด ตั้งรัฐบาลช้ากระทบ 24 แห่ง ที่ได้รับจัดสรรงบปี 2567 เผย ธ.ก.ส.-รฟม.-ร.ฟ.ท.ได้รับจัดสรรสูงสุด ลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 “พลังงาน” ห่วงการลงทุนของ กฟผ.สะดุด จ่อชง ครม.ชุดใหม่อนุมัติงบลงทุน 2.8 หมื่นล้าน ชี้ตั้งรัฐบาลช้ากระทบลงทุน

ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้กำหนดงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 24 แห่ง วงเงิน 149,382 ล้านบาท เทียบปีงบประมาณ 2566 ลดลง 13,536 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับจัดสรรมากที่สุด 64,727 ล้านบาท รองลงมาเป็นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 23,457 ล้านบาท , การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 23,135 ล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 6,890 ล้านบาท

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจะได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลเพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต้องเลื่อนออกไป ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่มีแผนลงทุนจากงบของตัวเองจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะงบประมาณใหม่จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า แผนลงทุนในปีงบประมาณ 2567 ของ ร.ฟ.ท.ในขณะนี้มีทั้งในส่วนของการลงทุนต่อเนื่องรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และการลงทุนโครงการใหม่ที่อยู่ในแผนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ซึ่งกรณีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าส่งผลต่อการอนุมัติงบประมาณปี 2567 หรือไม่นั้น แน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน การเปิดให้บริการจะล่าช้ากว่าแผนออกไป แต่จะเป็นการล่าช้าเฉพาะส่วนของงบลงทุนโครงการใหม่ที่จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“โครงการลงทุนของการรถไฟฯ ที่ก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน สัญญาพวกนี้จะเดินหน้าตามแผน การเบิกจ่ายงบประมาณก็สามารถขออนุมัติได้เพราะเป็นงบผูกพันที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ผลกระทบจะเกิดกับโครงการใหม่ๆ ที่อยู่ในแผนขออนุมัติจะล่าช้าออกไป แต่คาดว่าจะล่าช้าเพียงเล็กน้อย เพราะโครงการเหล่านี้ก็จะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาจัดลำดับการลงทุน”

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 อยู่ที่ 23,135 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 8,380 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 14,754 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนที่ ร.ฟ.ท.บรรจุไว้เพื่อผลักดันในปีงบประมาณดังกล่าว อาทิ โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้นส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมเสนอขอรับพิจารณาจาก ครม.อาทิ สายขอนแก่น-หนองคาย 29,748 ล้านบาท

กฟผ.จ่อชงงบลงทุน2.8หมื่นล้าน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากการตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะมีผลกระทบต่องบการลงทุนในปี 2567 ของ กฟผ.  ส่วนงบทำการนั้นไม่ได้รับผลกระทบเพราะคณะกรรมการบริหาร กฟผ.อนุมัติได้ ทั้งนี้กระแสเงินสด (Cash Flow) ของ กฟผ.ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น และเพียงพอต่อการลงทุนและนำส่งรัฐที่ค้างไว้ในปี 2566 ได้

สำหรับงบลงทุนโครงการของ กฟผ.ปกติแล้วหากจะมีการของบประมาณการลงทุนจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ.โดยขณะนี้งบลงทุนโครงการตางๆ ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่โดยตามขั้นตอนต้องนำเข้าสู่การนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.ตามลำดับ

รายงานข่าวจาก กฟผ. ระบุว่างบลงทุนปี 2567 ของ กฟผ.ถือเป็นงบเบิกจ่ายจำนวน 28,066 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน (เฉพาะเบิกจ่ายปี 2567) มูลค่า 179 ล้านบาท และระบบส่งมูลค่า 17,682 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นงบลงทุนด้านอื่นๆ 

ในขณะที่ กฟผ.มีแผนลงทุนปี 2566 มูลค่า 31,552 ล้านบาท และบริษัทในเครืออีก 3,478 ล้านบาท โดยจะเน้นใน 3 เรื่อง คือ

1. แผนการขยายระบบส่ง เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค 20,386 ล้านบาท เป็นการลงทุนขยายระบบส่งเดิมให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น 3,350 ล้านบาท ที่เหลือ 16,830 ล้านบาท จะเป็นเรื่องการปรับปรุงระบบส่ง

2.ระบบผลิต 11,166 ล้านบาท คือ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนที่ 8-9 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการบำรุงรักษาตามวาระ การจ้าง การซื้ออะไหล่ และการปรับปรุงอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ระยะ 4 อีก 400 กว่าล้านบาท

3.แผนลงทุนด้านพลังงานของบริษัทในเครือ กฟผ. 3,478 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (มหาชน) หรือ DCAP และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด

“พลังงาน”ห่วงลงทุน กฟผ.สะดุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเบิกจ่างงบประมาณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานมี 2 หน่วยงานคือ กฟผ.และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยขั้นตอนการใช้งบประมาณจะมีระยะเวลาใช้งบประมาณ คือ เดือน ม.ค.2567 ถือเป็นไปตามปฏิทิน ดังนั้น ถือว่ายังพอมีเวลา ซึ่งงบประมาณปี 2567 ของทั้ง 2 องค์กรได้ผ่านความเห็นชอบจาก สศช.แล้ว และรอเสนอ ครม.ชุดใหม่

นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้งบประมาณปี 2566 ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่าง ปตท. ถือเป็นบริษัทมหาชน เพราะการขอใช้งบประมาณหลักๆ จะผ่านมติบอร์ดบริหารของบริษัท ก็สามารถใช้ได้ เพียงจะต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ตามกฎระเบียบ

“โครงการใหญ่ ๆ ที่จะลงทุนจะต้องขอความเห็นชอบจากสภาพัฒน์ฯ จึงจะเสนอเข้า ครม.ซึ่งรอบเวลาของงบปีปฏิทินคือ เดือน ม.ค.แต่หากเป็นงบประมาณของราชการจะนับเป็นปีงบประมาณคือเดือน ก.ย. ซึ่งตอนนี้ใช้งบพรางไปก่อน เช่น งบประจำ เงินเดือน ค่าจ่าง ส่วนงบโครงการใหม่ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการใหม่ของ ปตท.จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ กฟผ.จะกระทบมากกว่า แต่เนื่องจาก กฟผ.ก็มีเงินของตนเองอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องชี้แจงต่อรัฐบาลว่า ในการของบประมาณดังกล่าวนั้น ขอมาแล้วจะใช้อย่างไร ถือเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนั้น หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่จะมีผลต่อการขอความเห็นชอบจาก ครม.ก็อาจจะต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามขั้นตอนอีกหรือไม่ จุดนี้อาจจะต้องมาดูข้อกฎหมายอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม งบประมาณปี 2566 เข้าใจว่าใช้จ่ายเกือบหมดแล้ว โดยหากระบบราชการเองตอนนี้ก็จะใช้งบพรางไปก่อน เช่น เงินเดือน งบดำเนินการ ส่วนงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง หรืองบโครงการต่าง ๆ ต้องล้าช้าแน่นอนหากได้รัฐบาลภายใน ต.ค.2566 ก็จะล่าช้าไปอีก 3 เดือน เป็นต้น รวมถึงการแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงพลังงานท่านใหม่ก็ล่าช้าไปอีกเช่นกัน

ไม่กระทบงบลงทุน ปตท.

รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า ถึงแม้ ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่งบลงทุนไม่ต้องเสนอ ครม.จึงดำเนินการได้เลย โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.ครั้งที่ 6/2566 ได้ทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% และอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 เพิ่มขึ้นอีก 60,254 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ที่ 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็นใช้สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 9,162 ล้านบาท ลดลง 861 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ที่ 10,023 ล้านบาท , ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 7,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท จากเดิม 7,503 ล้านบาท, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 769 ล้านบาท ลดลง 94 ล้านบาท จากเดิม 863 ล้านบาท 

ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 1,943 ล้านบาท ลดลง 497 ล้านบาท จากเดิม 2,440 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงิน 73,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,264 ล้านบาท จากเดิม 12,515 ล้านบาท

ทั้งนี้ การทบทวนแผนการลงทุนดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อาทิ เงินลงทุนสำหรับรองรับการร่วมลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี และการร่วมลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยหลักจากโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด

นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด สำหรับการลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5