คืบหน้า ‘ผัง EEC’ 4 ปี การใช้ที่ดินมากกว่าครึ่งยังเป็นพื้นที่ชนบท

คืบหน้า ‘ผัง EEC’ 4 ปี การใช้ที่ดินมากกว่าครึ่งยังเป็นพื้นที่ชนบท

การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือแผนผัง EEC มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2562 ได้วางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตระยะ 20 ปี (2560-2580) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พื้นที่รวม 8.29 ล้านไร่

โดยการจัดทำแผนผัง EEC ก็เพื่อส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะสมฐานเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบสมบูรณ์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความทันสมัยระดับนานาชาติที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต และรองรับจำนวนประชากรกว่า 6 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ภาพรวมของแผนผัง EEC ได้กำหนดกรอบประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินของปี 2580 ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่รวม 1,097,391 ไร่ คิดเป็น 13.23%

2.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม พื้นที่รวม 424,854 ไร่ คิดเป็น 5.12%

3. พื้นที่ชนบทและพัฒนาเกษตรกรรม พื้นที่รวม 4,850,419 ไร่ คิดเป็น 58.51%

4.พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่รวม 1,678,753 ไร่ คิดเป็น 20.25%

และประเภทอื่นๆ อาทิ เขตทหาร แหล่งน้ำ ถนน รวม 239,833 ไร่ คิดเป็น 2.89%

ทั้งนี้ รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (สกพอ.) พบว่าสถานการณ์การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซี ในปี 2564 มีสัดส่วนการใช้พื้นที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม คิดเป็น 64.31% รองลงมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 17.14% พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 11.72% และพื้นที่อุตสาหกรรม 3.45%

โดยเมื่อเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์ที่ดินกับปี 2560 พบว่า พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน เพิ่มขึ้น 18.76% จากแรงงานย้ายถิ่นฐานที่เพิ่มขึ้น ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนาแน่น ได้แก่ ศูนย์กลางทางการค้า ย่านนิคมอุตสาหกรรม ย่านแหล่งท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล รวมถึงตามแนวพัฒนาเส้นทางคมนาคมและขนส่งสายหลักและรอง

พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 9.96% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ส่งผลให้พื้นที่ว่างได้รับการพัฒนา มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดแหล่งงานดึงดูดการตั้งถิ่นฐานของเมือง ชุมชน และศูนย์การค้า

พื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น 11% จากการเพิ่มขึ้นของถนน ส่วนพื้นที่ที่ลดลง ได้แก่ชนบทและเกษตรกรรมลดลง 3.49% และพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดลง 1% โดยพื้นที่ดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและชุมชน การถอนสภาพป่าไม้เพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรและปลูกสร้างอาคาร

คืบหน้า ‘ผัง EEC’ 4 ปี การใช้ที่ดินมากกว่าครึ่งยังเป็นพื้นที่ชนบท