‘EEC’ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เร่งทบทวนแผนจัดการน้ำ ผลิตน้ำจืดจากทะเล

‘EEC’ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เร่งทบทวนแผนจัดการน้ำ ผลิตน้ำจืดจากทะเล

รายงานการศึกษาความต้องการใช้น้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พบว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำโดยฉพาะด้านการอุปโภคบริโภค ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากร จากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

รวมทั้งการขาดแคลนน้ำภาคการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำสูงที่สุด ซึ่งในอีอีซีมีพื้นที่กว่า 65% เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 

โดยปี 2566 มีความต้องการใช้น้ำรวม 657.73 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค216.83 ลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 308.98 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน131.92 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในปี 2570 อยู่ที่ 2,888 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 19.39% จากปี2560 เป็นความต้องการใช้น้ำในภาคเกษตรมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคตามลำดับ โดยจังหวัดฉะเชิงเทรามีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดรวม 1,583 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาคือระยอง 682 ล้าน ลบ.ม. และชลบุรี 623 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ปี 2580 มีปริมาณความต้องการใช้น้ำรวม 3,089 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 27.7% จากปี2560 ตามคาดการณ์แนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน จากการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนในอีอีซี อยู่ที่ 2,539 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเจริญเติบโตจะส่งผลให้ปี 2570 ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเดิมยังไม่ได้คำนวณผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณและการกระจายตัวของฝน จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ 

1.เร่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนให้เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จันทบุรี

2.ผลักดันการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล แบ่งเป็นพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่พัทยา ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางน้ำ โดยให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งเป็นผู้ใช้น้ำหลัก

3.จัดทำบัญชีน้ำ ทั้งอุปทานน้ำ อุปสงค์น้ำ ความพร้อมของน้ำ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่นๆ ในการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำอุตสาหกรรมให้เหมาะสม

‘EEC’ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เร่งทบทวนแผนจัดการน้ำ ผลิตน้ำจืดจากทะเล