'สศช.'เผยเม็ดเงินภาครัฐ 1.9 ล้านล้าน รอเบิกจ่ายช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

'สศช.'เผยเม็ดเงินภาครัฐ 1.9 ล้านล้าน รอเบิกจ่ายช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

‘สภาพัฒน์’ ชี้เศรษฐกิจไทยไม่สะดุดช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เผยมีเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/66 – ไตรมาส 1/67 กว่า 1.8 ล้านล้านบาท จากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ งบประจำ และงบฯผูกพัน ชี้ปัจจัยภายนอกกดดันการส่งออก แนะไทยดึงการลงทุนเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “Thailand :Take off” วานนี้ (21 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากการบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว นอกจากนี้นั้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้เร็วที่สุดคือภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อย่างไรก็ตามได้หารือกับส่วนราชาการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจถึงเม็ดเงินที่จะสามารถลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่ามีวงเงินรอเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบฯประจำ งบผูกพันฯ และงบลงทุน จากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นวงเงินประมาณ 1.8 – 1.9 ล้านล้านบาท

  • ไตรมาส4 ปีนี้เบิกจ่าย 1 ล้านล้าน

แบ่งเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้วงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยมาจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการเตรียมพร้อมเบิกจ่ายงบลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท อีกส่วนคืองบประมาณที่เป็นงบประจำ และงบประมาณผูกพันที่ต้องมีการเบิกจ่ายประมาณ 9 แสนล้านบาท

ส่วนไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จะมีเม็ดเงินที่สามารถเบิกจ่ายลงระบบเศรษฐกิจได้อีกประมาณ 7 แสนล้านบาท โดยมาจากงบประมาณประจำและรายการผูกพันงบประมาณของหน่วยงานราชการประมาณ 6.5 แสนล้านบาท และเงินจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

“ในช่วงเวลาไตรมาสสุดท้ายของปีไปจนถึงไตรมาส1 ปีหน้า ยังมีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจจากงบประจำ งบผูกพันของหน่วยงานราชการ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจกว่า 1.8 – 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการบริโภคและใช้จ่ายภายในประเทศ แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือต้องมีการเร่งรัดการจัดทำงบประมาณ และประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า”

\'สศช.\'เผยเม็ดเงินภาครัฐ 1.9 ล้านล้าน รอเบิกจ่ายช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

  • เศรษฐกิจไทยปี 66 โตต่อเนื่อง

 นายดนุชากล่าวต่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดีในประเทศ โดยในเรื่องของการท่องเที่ยวปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคนต่อเดือน และจะเพิ่มขึ้นในช่วงไฮต์ซีซั่นของปีโดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 28 ล้านคน โดยส่วนที่รัฐบาลพยายามทำต่อเนื่องคือเรื่องของการดึงนักท่องเที่ยวรายได้สูงเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย

ควบคู่กับการให้วีซ่าเพื่อพำนักระยะยาว (LTR Visa) ซึ่งรองรับการเข้ามาของแรงงานคุณภาพสูงที่มีกำลังซื้อที่เข้ามาพำนักและทำงานในไทยระยะยาว ส่งผลดีต่อธุรกิจอื่นๆเช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์ด้วย ส่วนการบริโภคภายในประเทศถือว่าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคภาคเอกชนก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย.อยู่ที่ระดับ 7.6 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.ที่อยู่ที่ระดับ 6.7 ส่วนเรื่องของราคาเชื้อเพลิง ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ และค่าไฟฟ้าถือว่ามีแนวโน้มราคาลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง

  • จับตาหนี้ครัวเรือน เช่าซื้อรถยนต์ 

สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังของเศรษฐกิจภายในของไทยคือเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้การเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการเพิ่มขึ้นของการผิดชำระหนี้ ขณะที่หนี้บัตรเครดิตก็ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้นอกจากการดูรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องความรู้ทางการเงินไม่ให้มีการใช้จ่ายเกินตัว และก่อหนี้มากกว่าความสามารถของการชำระหนี้ที่จะสามารถจ่ายได้

 

  • เศรษฐกิจโลกฉุดส่งออกไทยติดลบ

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาจากปัจจัยภายนอก โดยในส่วนแรกมาจากความเสี่ยงเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกใน 5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% เท่านั้น โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยโดยการส่งออกของไทยในแง่ของมูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา  นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งหากเงินเฟ้อปรับลดลงช้าก็จะส่งผลต่อเรื่องของอัตราดอกเบี้ยด้วย อีกเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบกับเศรษฐกิจไทยก็คือเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งความขัดแย้งยังคงอยู่ไม่ได้หายไป

  • หนุนดึงลงทุนอุตสาหกรรชิปต้นน้ำ 

ทั้งนี้สถานการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจที่เป็นปัญหาภมิรัฐศาสตร์นี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของประเทศไทย เพราะหากประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตชิปต้นน้ำซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมสำคัญ หากสามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้จะทำให้ไทยมีซัพพายเชนของรถ EV และสมาทร์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรเป็นฐานการผลิตที่สมบูรณ์ของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคและไม่เกิดปัญหาสะดุดในการผลิตเหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ขาดแคลนชิปที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ  

อย่างไรก็ตามการแข่งขันการดึงการลงทุนจากผู้ผลิตชิปต้นน้ำปัจจุบันมีการแข่งขันกันที่รุนแรงเพื่อที่จะดึงบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเข้าไปลงทุน ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นล่าสุดได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนการลงทุน (Capital Subsidy)ให้กับบริษัทที่เข้าไปลงทุนถึง 50% ซึ่งประเทศไทยนั้นมีกลไกในลักษณะดังกล่าวอยู่ ได้แก่ กองทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเงินในกองทุนฯดังกล่าวเพื่อรองรับการดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ประเทศไทยต้องการ

“โอกาสที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักที่ประเทศไทยจะมีโอกาสในการดึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศเพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งขณะนี้นโยบายต่างประเทศของเราต้องเป็นกลาง ทำให้ประเทศเป็นเซฟโซนสำหรับรองรับการลงทุน เราก็จะมีโอกาสที่จะรองรับการลงทุนเข้ามาในประเทศมาก การ Take off ประเทศไทยนั้นทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น และทำให้ทุกคนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”