'อีอีซี' ชี้ 'ซีพี' รับใบส่งเสริมลงทุน พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทันที

'อีอีซี' ชี้ 'ซีพี' รับใบส่งเสริมลงทุน พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทันที

สกพอ.ยันพร้อมส่งมอบพื้นที่ลุยสร้าง “ไฮสปีดเทรน3 สนามบิน” ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา หาก “ซีพี” รับใบส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ปัจจุบันโครงการได้รับอนุมัติจาก BOI แล้ว อยู่ในกระบวนการยื่นขอรับบัตรส่งเสริม อีอีซี ลุยแผนระยะ 2 ปี 66-70

ความพยายามที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ภายใต้แผนภาพรวมอีอีซี ระยะที่ 1 (2561 -65) ซึ่งได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานหลัก ทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีโครงการหนึ่งที่น่าจับตามองคือ “ไฮสปีดเทรน”

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาแล้ว 100% แต่เงื่อนไขทางสัญญาเอกชนจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก่อน ร.ฟ.ท.จึงจะสามารถออกใบอนุญาตเข้าพื้นที่เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP)

รายงานข่าวจาก สกพอ. ระบุว่า ปัจจุบันการเตรียมความพร้อมในส่วนของภาครัฐที่จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างคืบหน้าต่อเนื่อง ภาพรวมใกล้แล้วเสร็จครบ 100% ทั้งเส้นทางแล้ว มีเพียงการแก้ไขปัญหาในช่วงพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงสถานีบางซื่อ – ดอนเมือง ที่ต้องดำเนินการเจรจานำไปสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนนี้จะต้องรอการเสนอในรัฐบาลใหม่ ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน

ขณะที่การเตรียมความพร้อมส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบให้เอกชนครบทั้งเส้นทางแล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ เนื่องจากเอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริม BOI ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าทางเอกชนได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว และทาง BOI ได้พิจารณาอนุมัติ แต่ตามขั้นตอนจะต้องมีการยื่นขอรับบัตรส่งเสริมด้วย ดังนั้นหลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกชนด้วย

\'อีอีซี\' ชี้ \'ซีพี\' รับใบส่งเสริมลงทุน พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทันที

ได้สิทธิบีโอไอก่อสร้างได้ทันที

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่าแผนก่อสร้างงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย

1.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจาก เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย

2.ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบันบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ปัจจุบันเอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง

3.ช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567

4.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วมไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างลง ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจาก ครม.

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ยอมรับว่าภาพรวมโครงการนี้ปัจจุบันล่าช้ามากกว่า 2 ปี หลังจากลงนามสัญญาตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 และยังไม่เริ่มงานก่อสร้าง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าหลังลงนามสัญญาแล้ว จะเร่งรัดส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เอกชนใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2569 แต่ขณะนี้ ร.ฟ.ท.คาดการณ์ว่าจะเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้าง ให้โครงการทยอยแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

อีอีซีลุยแผนระยะ 2 มุ่งความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้อีอีซี จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อทิศทางขับเคลื่อนองค์กร อีอีซี รวมทั้งเพื่อต่อยอดและทบทวนแผนภาพรวมฯ อีอีซี ในระยะที่ 1 (2561- 65) ที่ผ่านมา โดยกรอบแนวคิดใน (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566 -70) ปัจจัยสำคัญจะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก 

เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี มีกรอบแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี

2. เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

3. ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม

4. พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ

5. เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน