เปิดแถลงการณ์'เฟด'จับทิศทางดอกเบี้ย

เปิดแถลงการณ์'เฟด'จับทิศทางดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 26 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ ระบุ ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเล็กน้อย

แถลงการณ์เฟดระบุด้วยว่า ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น โดยภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเผชิญอยู่นั้นอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันคณะกรรมการเอฟโอเอ็มซียังคงให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ทั้งยังพยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะยังคงประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมและแนวโน้มนโยบายการเงินในวันข้างหน้า

ในการตัดสินใจว่า เฟดจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% หรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (เอ็มบีเอส) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของเอฟโอเอ็มซีในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, ออสแทน ดี กูลส์บี, แพทริก ฮาร์เกอร์, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, นีล แคชคารี, โลรี เค โลแกน และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์

ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ให้ความเห็นว่าถ้อยแถลงของเฟดว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต แต่คาดการณ์ว่าจะมีการพักการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย.

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ และจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ และจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ทั้งนี้ เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 5.25%-5.5% หลังจากหยุดขึ้นเมื่อเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อขณะนี้ลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากกว่า 9% ในเดือน มิ.ย.2565 เฟดจึงเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ แต่แม้ขึ้นดอกเบี้ยมา 11 ครั้งเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเข้มแข็ง การจ้างงานชะลอตัวลงแต่แข็งแกร่งอัตราว่างงานเกือบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักวิเคราะห์บางคนในสหรัฐมองว่าเฟดทำมามากแล้ว เงินเฟ้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“เราคิดว่า อัตราดอกเบี้ยเฟดเข้มงวดมากพอชะลอเศรษฐกิจ ชะลอกิจกรรม เปิดทางให้เงินเฟ้อเข้าสู่ขาลง” เคธี บอสต์ยานซิช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทประกันภัย “เนชันวายด์ มิวชวล” กล่าวพร้อมคาดว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้

แอนดรูว์ แพตเทอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสวาณิชธนกิจแวนการ์ด กล่าวว่า เฟดกังวลเรื่องการประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อก่อนกำหนด เพราะนึกถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ตอนที่ผู้นำเฟดเห็นสัญญาณว่าเงินเฟ้ออ่อนตัวลงแล้ว แต่ปัญหากลับปะทุขึ้นมาอีก

“พวกเขามีรายงานเงินเฟ้อไปในทิศทางบวกในเดือนที่ผ่าน ก็เลยอยากดูให้มากกว่านี้เพื่อความสบายใจ เฟดไม่ได้ตัดเงื่อนไขอะไรหรือผลักตัวเองเข้ามุม”

ด้านเดวิด เฮนรี ผู้จัดการการลงทุน บริษัทQuilter Cheviot กล่าวว่า ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรป ควบคุมเงินเฟ้อ “ตามหลังสหรัฐมาก” ซึ่งอาจนำไปสู่การแยกทาง หรือแบ่งแยกทางนโยบายในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเริ่มพูดถึงการลดดอกเบี้ยก่อน