แผน ‘คมนาคม’ เสนอรัฐบาลใหม่ ปรับพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ

แผน ‘คมนาคม’ เสนอรัฐบาลใหม่ ปรับพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ

“คมนาคม” ตั้งเป้าภายในปี 2575 เปิดบริการรถไฟฟ้า 14 เส้นทาง ครอบคลุม 554 กิโลเมตร พร้อมดันแผน M-Map2 เสนอ ครม.ชุดใหม่ นำร่องขยายเพิ่ม 5 เส้นทาง หนุนประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ขณะที่ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” จ่อขึ้นแท่นฮับเดินทางและชอปปิ้งแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถา “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ภายในงานสัมมนา “โจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์” เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2566 โดยระบุว่า เป้าหมายของกระทรวงคมนาคม คือ การขนส่งสินค้าหรือคนจากต้นทางถึงปลายทางให้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ประเทศทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

 

ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาถึงปัญหาของการคมนาคม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 

1.การคมนาคมขนส่งในเมือง 

2.การคมนาคมขนส่งระหว่างเมือง 

รวมทั้งเบื้องต้นพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การจราจรติดขัด เกิดเป็นปัญหาฝุ่นมลภาวะ เนื่องจากการขนส่งหลักยังคงเป็นระบบขนส่งทางบก อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการขนส่งสูง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่สะดวก รวมทั้งรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) มีไม่เพียงพอและไม่ตรงต่อเวลา ขณะที่การขนส่งระหว่างเมืองยังเน้นขนส่งด้วยรถบรรทุก เพราะปัญหาระบบรางที่ไม่เพียงพอ

แผน ‘คมนาคม’ เสนอรัฐบาลใหม่ ปรับพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ

กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาการคมนาคมดังกล่าว ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ส่วน คือ 

1.ขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 

2.ขนส่งเป็นมิตร 

3.ขนส่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

สำหรับการดำเนินการจะแบ่งแนวทางแก้ไขปัญหาออกเป็น การคมนาคมในเมือง เป้าหมายจะเปลี่ยนคนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลสู่การขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก ขณะที่การคมนาคมระหว่างเมือง เป้าหมายจะเปลี่ยนการขนส่งทางรถบรรทุก เป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำที่มีต้นทุนขนส่งถูกกว่า

ส่วนแนวคิดที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ได้แบ่งออกเป็น การพัฒนาระบบขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน จะปรับพฤติกรรมของประชาชนให้เน้นเดินทางด้วยระบบราง เชื่อมต่อการเดินทางด้วยการขับรถส่วนบุคคลไปยังจุดหมายปลายทาง ให้ปรับเป็นการนำรถส่วนบุคคลเดินทางเพื่อมายังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า 

แผน ‘คมนาคม’ เสนอรัฐบาลใหม่ ปรับพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ

รวมทั้งจะพัฒนาระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) เพื่อขนผู้โดยสารจากบ้านมายังระบบขนส่งหลัก ซึ่งจะเน้นเป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ รถโดยสารอีวี

นอกจากนี้ การผลักดันเป้าหมายปรับพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองนั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนทำงานผ่านการเร่งรัดพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าภายใต้แผน M-Map1 ให้แล้วเสร็จจำนวน 14 สาย รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยปัจจุบันโครงการภายใต้แผน M-Map1 นั้นทยอยเปิดให้บริการแล้ว โดยกระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าภายในปี 2572 จะแล้วเสร็จเปิดให้บริการคิดเป็น 80% ของแผนทั้งหมด

“หากโครงการรถไฟฟ้า M-Map1 เปิดให้บริการครบตามแผน จะทำให้ประชาชนเดินไม่เกินครึ่งกิโลเมตรและเจอสถานีรถไฟฟ้า เป็นเหมือนกรุงโตเกียว ลอนดอน และนิวยอร์ก ที่การเดินทางระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าในเมืองก็เปิดให้บริการครอบคลุมระยะทางแล้ว 241 กิโลเมตร ทั้งสายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีแดง รวมไปถึงสายสีชมพู และเหลือง เป็นใยแมงมุมโครงข่ายรถไฟฟ้าที่สนับสนุนการเดินทางสะดวกขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ โมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งจะเป็นฟีดเดอร์เชื่อมทางทิศตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ ใช้ขนส่งคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลักอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเป็นรถไฟฟ้าสายหลักเชื่อมตะวันออกและตะวันตก ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแกนหลักอื่นๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อีกทั้งปัจจุบันยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะขยายแนวเส้นทางมาทิศใต้สิ้นสุดที่ราษฎร์บูรณะ รวมถึงสายสีแดงที่จะขยายเหนือและใต้ของกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม ยังมีโครงการที่มีความพร้อมพัฒนาเตรียมเสนอคณะรัฐมมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติ จำนวน 5 โครงการ อาทิ 

  • สายสีแดงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
  • สายสีแดงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท 
  • สายสีแดงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท 

รวมไปถึงแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-Map2 ที่จะขยายการเดินทางรอบนอกกรุงเทพฯ ให้สะดวกมากขึ้น อาทิ เส้นทางต่อขยายจากสถานีบางหว้า-ราชพฤกษ์-บางบำหรุ เป็นต้น

 นายชยธรรม์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาฟีดเดอร์เพื่อสนับสนุนการเดินทางสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าความเหมาะสมของการพัฒนารถโดยสารประจำทางเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารมีเป้าหมายพัฒนา 81 เส้นทางต่อ 1 โครงการรถไฟฟ้า รวมไปถึงเส้นทางเรือโดยสารเพื่อผลักดันเป้าหมายการเดินทางล้อ-ราง-เรือ

การพัฒนาระบบขนส่งระหว่างเมือง จากปัญหาที่พบว่าการขนส่งส่วนใหญ่ยังเป็นการเดินทางด้วยขนส่งทางบก ผู้ประกอบการยังคงใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าเป็นหลักทำให้ต้นทุนสูง เป้าหมายของกระทรวงฯ คือ การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ และจำกัดรถบรรทุกให้วิ่งเข้าหาศูนย์กลางต่างๆ ที่กำหนด ในรูปแบบของท่าเรือบก และใช้ระบบรถไฟทางคู่เป็นหลักในการขนส่ง โดยเป้าหมายขณะนี้กระทรวงฯ จะเร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ในรัศมี 250 กิโลเมตรโดยรอบกรุงเทพฯ ภายในปลายปี 2566 เช่น รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม จะแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนในเส้นทางระหว่างเมือง ผ่านการขยายโครงข่ายทางพิเศษที่จะทยอยเปิดให้บริการระหว่างปี 2567-2568 อาทิ 

  • สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร
  • สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร 
  • สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร

นายชยธรรม์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เมื่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าและรถไฟให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางของประชาชนสะดวก รวดเร็ว และสามารถกำหนดเวลาเดินทางได้ 

อีกทั้งผู้ประกอบการภาคขนส่งยังสามารถลดต้นทุนจากการขนส่งแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้การขนส่งสาธารณะสมบูรณ์ คือการพัฒนา TOD พื้นที่รอบบริเวณสถานีต่างๆ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงผู้ใช้บริการ ซึ่งขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังทำแผนพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและชอปปิ้งแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

แผน ‘คมนาคม’ เสนอรัฐบาลใหม่ ปรับพฤติกรรมใช้ขนส่งสาธารณะ