'ศาลปกครองกลาง' ยกฟ้องคดีปรับหลักเกณฑ์ประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

'ศาลปกครองกลาง' ยกฟ้องคดีปรับหลักเกณฑ์ประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

"ศาลปกครองกลาง" ยกฟ้องคดี BTS โต้ รฟม.ปรับหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบ 2 ชี้ใช้ดุลพินิจเหมาะสม หลังเพิ่มคุณสมบัติด้านเทคนิค 90% กำหนดต้องเป็นคู่สัญญางานโยธาภาครัฐ เอื้อประโยชน์ประเทศ

รายงานข่าวจากศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ก.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 

โดยศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาคำฟ้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกในการประมูลครั้งที่ 2 พบว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการสอดคล้องไปกับข้อกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ไม่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง หรือกีดกัดเอกชนรายใดไม่ให้เข้าร่วม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนเปิดรับซองเอกสารเป็นเวลา 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ดำเนินการตามรูปแบบกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 จึงไม่มีเหตุรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกันในข้อกล่าวหาของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดคัดเลือกเอกชนในด้านซองเทคนิค ที่มีการกำหนดเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคแต่ละหมวด 85 คะแนน และผลรวมคะแนนไม่ต่ำกว่า 90 คะแนน อีกทั้งยังกำหนดให้เอกชนที่รับงานโยธาต้องมีประสบการณ์เป็นคู่สัญญาต่อรัฐบาลไทยและเป็นงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่งมอบแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฎว่า รฟม.ได้ใช้ดุลพินิจความเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการนี้เป็นงานอุโมงค์และผ่านพื้นที่สำคัญ จำเป็นต้องคัดเลือกเอกชนที่มีศักยภาพงานเทคนิค อีกทั้งการกำหนดให้มีประสบการณ์คู่สัญญาภาครัฐ เพื่อเอื้อต่อการตรวจสอบเปรียบเทียบคุณภาพงาน สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง และเพื่อสร้างความมั่นใจต่องานก่อสร้างและเพื่อประโยชน์ของประเทศ

อีกทั้งในประเด็นนี้ยังพบว่าภายหลัง รฟม.ออกประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนในส่วนของงานโยธา ทาง BTSC ยังได้ทำหนังสือถึง รฟม. เพื่อขอขยายเวลารับซองเอกสารออกไปอีก เนื่องจาก BTSC ต้องใช้เวลาในการเจรจาหาพันธมิตรต่างชาติที่มีประสบการณ์เป็นคู่สัญญากับภาครัฐไทยเข้าร่วม ย่อมแสดงให้เห็นว่ากรณีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ BTSC ได้รับทราบเงื่อนไข เข้าใจข้อเสนอเป็นอย่างดี อีกทั้งข้อกำหนดก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์เอหชนรายใดรายหนึ่ง เพราะเปิดกว้างให้รวมกลุ่มนิติบุคคลระหว่างเอกชนไทยและต่างชาติได้ 

ส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการถือหุ้นของ รฟม.ใน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในสัดส่วน 8.22% ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถือเป็นการได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษ ข้อเท็จจริงได้พิจารณาว่า รฟม.ถือหุ้นใน BEM เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2548 จากการลงนามทำสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อเอื้อต่อการบริหารและกำกับดูแลโครงการดังกล่าว อีกทั้งการถือหุ้นของ รฟม.ไม่ได้ขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะข้อกฎหมายมีการกำหนดไว้ในลักษณะของบุคคลห้ามถือหุ้นเท่านั้น อีกทั้งการเอื้อประโยชน์เป็นพิเศษในกรณีนี้ ยังพิจารณาให้เห็นด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา BTSC ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าและเข้าบริหารใน 2 โครงการ ดังนั้นแสดงให้เห็นแล้วว่า รฟม.ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในกรณีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 2 นั้น สืบเนื่องมาจาก รฟม.ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงไปจากการประกวดราคาเมื่อปี 2563 โดย BTSC ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การใช้เทคนิคสูงขึ้น ทำให้ BTSC และพันธมิตรกลับไม่มีคุณสมบัติด้านงานโยธาตามเอกสารการประกวดราคา เข้าข่ายกีดกัดการแข่งขัน