มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

วันพฤหัสบดีที่แล้ว ผมไปร่วมงานสัมมนาภายในของสถาบันทีดีอาร์ไอ พูดเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งน่าสนใจมาก

เพราะมีผู้รู้ทั้งจากทีดีอาร์ไอ ภาคธุรกิจ วงการธนาคาร และฝ่ายการเมืองเข้าร่วมให้ความเห็น ทําให้ได้ฟังความเห็นในหลายมิติ วันนี้จึงขออนุญาตนําสาระบางส่วนโดยเฉพาะความเห็นภาคธุรกิจรวมถึงความเห็นผมเองเกี่ยวกับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

เศรษฐกิจปีนี้ท้าทายและวิเคราะห์ไม่ง่าย เพราะความไม่แน่นอนมีมากทั้งในเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศเองโดยเฉพาะนโยบายรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลและจะเข้ามาทําอะไรในแง่นโยบายเศรษฐกิจ เหล่านี้คือความไม่แน่นอนที่จะกระทบเศรษฐกิจจากนี้เป็นต้นไป

อย่างที่เคยสรุป ข้อมูลเศรษฐกิจห้าเดือนแรกชี้ว่า เศรษฐกิจกําลังฟื้นตัว ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว จากการใช้จ่ายช่วงเลือกตั้งและการใช้จ่ายภาครัฐ ประเมินว่านักท่องเที่ยวครึ่งแรกปีนี้อาจมากถึง 12.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอจากปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและผลจากสงคราม ทําให้การค้าโลกปีนี้ชะลอ และกระทบการส่งออกของเราที่ปีนี้ขยายตัวติดลบทุกเดือน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงยังไม่เข้มแข็งอย่างที่ควร แต่ก็ทำให้เงินเฟ้อในประเทศผ่อนคลายลง

สำหรับครึ่งปีหลัง ทีดีอาร์ไอมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีต่อเนื่องและเร่งตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสี่ที่เป็นช่วงพีคของทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวตามฤดูกาล ปีนี้เป้าจํานวนนักท่องเที่ยวที่หน่วยงานรัฐใช้อยู่ที่ 30 ล้านคนซึ่งสูง

มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

คาดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการลงทุนและการขยายตัวของการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวตามฤดูกาล ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคในประเทศขยายตัวตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐครึ่งปีหลังจะถูกจํากัดโดยความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 ทำให้รัฐบาลจะไม่สามารถใช้จ่ายได้มากกว่าหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณปี 2566 ซึ่งจะจํากัดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจของนโยบายการคลัง

ทั้งปีทีดีอาร์ไอมองว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ใกล้เคียงกับประมาณการของหลายหน่วยงาน ตัวเลขร้อยละ 3.5 ถือเป็นกรณีฐานที่ไม่รวมเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจเลวร้ายลง

ที่พูดกันมากในงานสัมมนาคือ ความเสี่ยงด้านลบที่จะมีต่อเศรษฐกิจที่ปีนี้มีมากและอาจทําให้เศรษฐกิจขยายตัวตํ่ากว่ากรณีฐาน โดยเฉพาะสองเรื่อง คือเศรษฐกิจจีน และการเมืองในประเทศ

เศรษฐกิจโลกปีนี้อ่อนแอ ประมาณการล่าสุดจากธนาคารโลกให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.1 ตํ่าสุดในรอบสามสิบปี เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ยังประคองตัว แต่ในยุโรปเศรษฐกิจส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะถดถอย

ขณะที่จีนชะลอตัว ล่าสุดเศรษฐกิจจีนไตรมาสสองปีนี้ขยายตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับปีก่อน แต่ตํ่ากว่าเป้า และขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 จากไตรมาสแรก

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เป็นผลจากการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกที่ชะลอ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ และการว่างงาน ล่าสุดอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวในจีนเพิ่มสูงถึงร้อยละ 21.3

มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

ที่ห่วงกันคือภาวะชะลอตัวนี้ อาจไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่แก้ไขได้โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สะท้อนปัญหาระยะยาวที่ต้องปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหา เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ผลจากโครงสร้างประชากร ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นและในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การแก้ไขจะใช้เวลาและจะมีผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็จะถูกกระทบทั้งด้านการค้าและท่องเที่ยว ล่าสุดนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าไทยปีนี้ยังลดลงกว่าร้อยละ 64 ของตัวเลขปี 2019 ก่อนโควิด ดังนั้น จากนี้ไปเศรษฐกิจจีนเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและไทยที่ต้องจับตา

ส่วนเรื่องการเมืองผู้สันทัดกรณีมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่นานแต่รัฐบาลใหม่อาจเป็นการกลับไปวังวนเดิมของการเมืองไทย คือไม่มีอะไรใหม่ทั้งตัวผู้เล่นและนโยบาย

ภาคธุรกิจมองว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นนโยบายของทุกพรรค ที่ต้องตระหนักคือธุรกิจเอสเอ็มอีจะถูกกระทบมากสุด เพราะไม่สามารถผลักต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น โดยขึ้นราคาสินค้าได้ง่ายเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่

และที่ภาคธุรกิจไม่อยากเห็นคือ การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อรุนแรงที่จะกระทบการทำธุรกิจและภาพลักษณ์ประเทศที่จะมีผลต่อธุรกิจเช่นการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอน โอกาสของประเทศไทยก็มีมากเพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ดีแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอ โดยภาคธุรกิจมองว่า บรรยากาศการลงทุนขณะนี้ดีและประเทศเรามีศักยภาพสูงที่จะตักตวงและหาประโยชน์ เช่น

หนึ่ง ไทยมีโอกาสสูงที่จะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและประเทศอื่นๆ จากประเด็นภูมิศาสตร์การเมือง ความต้องการกระจายห่วงโซ่การผลิตไปหลายพื้นที่ และอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงในประเทศหลัก เช่น สิงคโปร์ โอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรตักตวงจริงจัง

สอง การท่องเที่ยวในโลกเติบโตมากหลังโควิด และเป็นโอกาสที่ธุรกิจท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกทดแทนกำลังซื้อในประเทศ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่

ตัวอย่างที่เห็นขณะนี้ คือญี่ปุ่น สเปน และอิตาลี ที่การท่องเที่ยวบูมมากและเศรษฐกิจของประเทศได้ประโยชน์ ทําให้ห่วงโช่การสร้างมูลค่าเพื่มในธุรกิจท่องเที่ยวยังสามารถขยายได้อีกมาก ทั้งในประเทศเราเองและทั่วโลก

มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่มีทักษะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การบิน โรงแรม อาหาร ที่พักอาศัย ธุรกิจบริการ การแพทย์ สุขภาพ ที่จะหาประโยชน์

สาม เพื่อตักตวงโอกาสเหล่านี้ ประเด็นที่ต้องทําคือต้องลดข้อจำกัดด้านการผลิตหรืออุปทานเพื่อให้ประเทศสามารถตอบสนองโอกาสเหล่านี้ได้เร็วและง่ายขึ้น

ซึ่งปัญหาหลักคือ เรื่องแรงงานที่เราขาดแคลนทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐและระบบราชการในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่อาจช่วยได้

มุมมองเหล่านี้ผมว่าน่าสนใจ เป็นประโยชน์ และตรงไปตรงมา ต้องขอขอบคุณสถาบันทีดีอาร์ไอและวิทยากรที่มาร่วมงานที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์

มุมมองภาคเอกชนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]