แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจปีนี้ผ่านไปแล้วครึ่งปี เร็วมาก เป็นครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจถูกรุมเร้าด้วยหลายปัจจัยทั้งบวกและลบ ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น

และการเมืองหลังเลือกตั้งที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทําให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกเพราะความไม่แน่นอนที่มีมาก ผลคือเศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวแต่ไม่เข้มแข็งและมีความไม่แน่นอนสูง

คําถามคือเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกหรือไม่ อะไรจะเป็นปัจจัยตัดสินและสิ่งที่ต้องระวัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ข้อมูลเศรษฐกิจชี้ว่า เศรษฐกิจช่วงห้าเดือนแรกปีนี้อยู่ในเกณฑ์ขยายตัว ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 2.7 แต่เป็นการขยายตัวที่ไม่กระจายและไม่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐบาล ที่อัดฉีดเงินเข้าระบบก่อนการเลือกตั้ง

แต่ปัจจัยบวกเหล่านี้ก็ถูกลดทอนด้วยปัจจัยลบทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจช่วงห้าเดือนแรกยังไม่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจัยลบสำคัญได้แก่

หนึ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่กระทบการส่งออก ทำให้การส่งออกของประเทศช่วงห้าเดือนแรกขยายตัวติดลบทุกเดือน

สอง ความอ่อนแอของกําลังซื้อในประเทศ ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศขาดรายได้ ไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในประเทศ เป็นผลจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ตํ่าต่อเนื่อง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ล่าสุดที่ร้อยละ 90.6 ของรายได้ประชาชาติ จนสถาบันการเงินไม่สามารถขยายสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่ออัดฉีดกําลังซื้อในส่วนนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

สาม ความไม่แน่นอนและปัญหาธรรมาภิบาล ที่โยงกับการทําหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจ ที่สำคัญมากขณะนี้คือความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นไปตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

เพราะสิ่งที่นักลงทุนหวังคือ ประเทศได้รัฐบาลที่ดีที่ได้ฉันทามติและการยอมรับจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เพื่อให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ ผิดไปจากนี้ก็คือความไม่แน่นอน ที่จะทําให้การเมืองของประเทศไม่มีเสถียรภาพ กระทบการลงทุนและเศรษฐกิจ

สะท้อนปัจจัยลบเหล่านี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจึงยังไม่เข้มแข็ง เป็นการขยายตัวบนฐานที่แคบคือ ขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นหลัก การลงทุนภาคเอกชนยังไม่เร่งตัวเพราะประเด็นความเชื่อมั่นและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทําให้โมเมนตัมการใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอ

เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อทั้งระบบที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 เดือนพฤษภาคมและมีแนวโน้มชะลอตัว ที่ดีในแง่ความเป็นอยู่ของประชาชนคืออัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเหลือร้อยละ 0.53 เดือนพฤษภาคม สะท้อนให้เห็นช้ดเจนถึงความอ่อนแอของกําลังซื้อของคนในประเทศ

คําถามคือเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะแตกต่างจากช่วงครึ่งปีแรกหรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยที่จะทําให้แตกต่าง ทั้งดีขึ้นและเลวลง ผมคิดว่ามีสามปัจจัยที่เราต้องติดตาม

ประเด็นแรกคือการเมืองในประเทศ ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะทำได้เร็วหรือไม่และเราจะได้รัฐบาลที่ประชาชนยอมรับเข้ามาทําหน้าที่หรือไม่ เพราะการตั้งช้าและหรือได้รัฐบาลที่ประชาชนไม่ยอมรับจะทำให้การเมืองของประเทศขาดเสถียรภาพ กระทบการตัดสินใจของนักลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนและคนส่วนใหญ่ของประเทศอยากเห็นคือ เราได้รัฐบาลที่ดีที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและสนับสนุนเข้ามาบริหารเพื่อให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ

แต่ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาอย่างไร ผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นคือความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 ที่การบังคับใช้อาจล่าไปถึงเดือนมีนาคมปีหน้า เพราะต้องผ่านการเห็นชอบจาก ครม.และสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่

ทําให้การใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่ไตรมาสสี่เป็นต้นไปจะถูกจำกัดอยู่กับหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณปี 2566 ไม่สามารถทํามากกว่างบประมาณปี 2566 ทำให้บทบาทการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นการประคับประคองสถานการณ์มากกว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ประเด็นที่สอง คือภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังมี จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรป แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจต้องขึ้นต่อเพื่อลดเงินเฟ้อ ปัญหาสงครามและภูมิรัฐศาสตร์

และล่าสุดคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เป็นกําลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยผ่านการท่องเที่ยว

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจอ่อนแอลง จากปัญหาในภาคการผลิตและภาคบริการ ทําให้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังอาจไม่ดีหรือแย่ลงกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นที่สามคือ ปัญหาความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเทศเราเองทั้งของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ซึ่งโยงกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการได้มาของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับ

การทําหน้าที่ของรัฐบาลและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐตามกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและธรรมาภิบาลในระบบราชการ ตลาดทุน และการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมดสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจและการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดังนั้น เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจึงเป็นเรื่องไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง และทุกคนในภาคธุรกิจต้องช่วยกัน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือในกรณีเลวร้ายสุดกลายเป็นปีที่สูญเปล่าของเศรษฐกิจ ซึ่งจะน่าเสียดายมาก

แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]