‘TDRI’ มอง 6 โจทย์ใหญ่ ‘สังคมไทย’ ฉุดรั้งเศรษฐกิจ – กระทบคุณภาพชีวิตผู้คน

‘TDRI’ มอง 6 โจทย์ใหญ่ ‘สังคมไทย’ ฉุดรั้งเศรษฐกิจ – กระทบคุณภาพชีวิตผู้คน

"TDRI" ชี้ 6 ปัญหาสำคัญฉุดรั้งเศรษฐกิจ - สังคม กระทบคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการฟื้นตัวของการจ้างงาน หนี้ครัวเรือนสูง สุขภาวะประชาชนอ่อนแอลง ชี้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องมีกลไกประชาธิปไตยที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้เพื่อสร้างสังคมที่ดี

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางสังคมไทย” ในเวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ความตอนหนึ่งว่าวันนี้ทัศคติ และความคิดของคนในประเทศไทยพัฒนาไปไกลพอสมควร แต่เรายังมีปัญหา 6 เรื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม เพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันแยกกันไม่ออก  

 

6 ปัญหาสำคัญฉุดรั้ง เศรษฐกิจไทย - สังคมไทย ได้แก่

1.ปัญหาการจ้างงาน ในประเทศไทย แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับมาหลังวิกฤติโควิด-19 ตอนนี้การจ้างงานกลับมาแล้ว ทำให้อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.05% มีคนว่างงานประมาณ 4 แสนคน หมายความว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาคนมีงานทำแต่ยังมีระดับค่าจ้างไม่ค่อยสูง ทั้งนี้หากพรรคการเมืองจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องปรับให้เหมาะสม สะท้อนเงินเฟ้อกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ควรปรับต่ำสุดที่ 390 บาท และเพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมปรับตัวได้ก็ต้องปรับอย่างต่อเนื่อง

2.ปัญหาหนี้ครัวเรือน จากอัตราค่าจ้างที่ไม่พอเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปลายปี 2565 หนี้ครัวเรือนสูงประมาณ 15 ล้านล้านคิดเป็น 87% ของดีจีพี และจะสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับนิยามหนี้ครัวเรือน โดยนำหนี้อีก 2-3 ตัวเข้ามารวม ก็จะทำให้หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านเป็น 91% ของดีจีพี ซึ่งในภาพก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากที่จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

 

3. สุขภาพภาวะสังคมที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจที่เกิดจากอากาศเป็นพิษ PM 2.5 ปัญหาสุขภาพจิตทั้งจากความเครียดและโรคซึมเศร้า และการเสียชีวิตจากโรคติดต่อเช่นโควิด -19

 4. ความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เช่น การก่ออาชญากรรมต่อชีวิตและทางเพศ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีข่าวความรุนแรงที่ปรากฎข่าวในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

5. การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งปัจจุบันพบการเกิดอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ถึง 80% โดยผู้เสียชีวิตอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวนมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

6. ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดย 40% ร้องเรียนเรื่องการบริการ ในเรื่องเสริมความงาม การโฆษณาเกินจริง การกู้เงินทางออนไลน์ นอกจากนี้เรื่องการผูกขาดในธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่มีการทำอะไรจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และรุนแรงมากขึ้น เช่นการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น การควบรวมโรงพยาบาลที่ทำให้ค่ารักษาที่แพงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการป้องกันไม่ให้รัฐและนายทุนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน

ทั้งนี้สังคมแยกจากเศรษฐกิจ การเมืองไม่ได้ สังคมจะพัฒนาต่อไปได้ต้องทำให้สังคมเข้ามาควบคุมรัฐได้ เงื่อนไขที่จำเป็นคือ ต้องกลับไปสู่ประชาธิปไตย ต้องให้กลไกประชาธิปไตยทำงาน โดยรูปธรรมในระบบรัฐสภาส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนควรมีอำนาจเต็มที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตัวแทนใครไม่รู้อย่าง ส.ว. เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

ส่วนตำแหน่งที่พรรคการเมืองไปพูดคุยกัน ขออย่าให้มีอำนาจข้างนอกเข้ามาแทรก สังคมจึงจะสามารถควบคุมรัฐได้ และทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นเดินไปถูกที่ถูกทาง

“โจทย์ของสังคมไทย จะต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาทัดทานรัฐและทุน ประเทศที่จะพัฒนาได้อย่างสมดุลจะต้องมีรัฐที่เข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ และรัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการคนในสังคม อย่างเรื่อง pm 2.5 ที่เกิดขึ้นมาหลายเดือน แต่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือตัวอย่างของรัฐที่ไม่มีความเข้มแข็งและไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้”