นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ป่วนร้านกาแฟหนัก แม่วัวพักเต้า-เกษตรกรขายฟาร์มทิ้ง

นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ป่วนร้านกาแฟหนัก แม่วัวพักเต้า-เกษตรกรขายฟาร์มทิ้ง

น้ำนมโคดิบขาดแคลน ร้านกาแฟเครียด นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ผลจากฤดูแม่วัวพักเต้า! รายใหญ่ “เมจิ” ดีมานด์พุ่ง ของไม่พอขาย จำกัดโควตาการซื้อ แต่ฝั่ง “สหรัฐ” นมล้นตลาด แปรรูปยาก แก้ปัญหาด้วยการ “เททิ้ง”

Key Points:

  • สถานการณ์ “น้ำนมโคขาดตลาด” มาเร็วกว่าที่คิด หลังเป็นปัญหาลากยาวต่อเนื่อง 1-2 ปี ต้นทุนการเลี้ยงวัวนมสูงขึ้น รายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ทำเอาผู้เลี้ยงหลายรายขายฟาร์มทิ้ง
  • ตามปกติ ช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปี ตรงกับ “ฤดูพักเต้า” หรือ “Dry Cow Period” หลังจากเกษตรกรรีดน้ำนมแม่วัวจนใกล้ถึงช่วงใกล้คลอด จะต้องทำการ “พักเต้า” เพื่อสุขภาพของแม่วัว ทว่า ปีนี้ฤดูพักเต้ามาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ขณะที่ “ไทย” เผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำนม ข้ามไปฝั่ง “สหรัฐ” กลับเจอสถานการณ์ “นมล้นตลาด” แม่วัวไม่สามารถปิดเต้าได้ ฟาร์มไม่มีโรงงานแปรรูปเป็นของตัวเอง จึงแก้ปัญหาด้วยการ “เททิ้ง” ในทุกทุกวันแทน


ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน บริษัทซีพี-เมจิ ออกจดหมายเปิดผนึกชี้แจงถึงสถานการณ์จำกัดการซื้อสินค้าประเภท “นมเมจิพาสเจอไรส์” ทุกขนาดรวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทวิปปิ้ง ครีม ทำให้ร้านค้าหลายสาขาจำกัดการซื้อเพียง 2 แกลลอนต่อ 1 คน โดยร้านค้าโมเดิร์นเทรดหลายแห่งขาดแคลนผลิตภัณฑ์นมบางยี่ห้อจริง ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือน รวมถึงเพื่อการพาณิชย์อย่างร้านกาแฟและบรรดาคาเฟ่ที่ต้องใช้ชงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนมโคด้วย

ขณะเดียวกัน กลับพบว่า ฟากฝั่ง “สหรัฐอเมริกา” กำลังประสบปัญหาขั้วตรงข้ามกับบ้านเรา คือ “น้ำนมโคล้นตลาด” โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ขณะนี้ฟาร์มโคนมหลายแห่งต้องแก้ปัญหาด้วยการเทน้ำนมทิ้งทุกวัน

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมประเทศไทยจึงขาดแคลนน้ำนมโค เกิดจากปัจจัยด้านใดบ้าง ในขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกกลับประสบปัญหาน้ำนมล้นตลาด “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนหาคำตอบในบทความนี้

นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ป่วนร้านกาแฟหนัก แม่วัวพักเต้า-เกษตรกรขายฟาร์มทิ้ง

  • ค่าไฟ ค่าอาหาร โรคระบาด ดันต้นทุนพุ่ง-เกษตรกรลำบาก

จากแถลงการณ์ของบริษัทซีพี-เมจิ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ระบุถึงสองสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมฟาร์มโคนมไทยได้รับผลกระทบ คือ 1. ต้นทุนการเลี้ยงโคนมที่สูงขึ้น และ 2.ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูการพักรีดน้ำนมโค (Dry Cow Period) ซึ่งในปีนี้มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำนมดิบในตลาดที่จะลดลงทันทีอย่างน้อย 20-30 เปอร์เซ็นต์

โดยบริษัทระบุว่า จะมีการทำแผนสำหรับการบริหารจัดการทั้งในระยะสั้นและระยาว ระยะสั้นจะเป็นการจำกัดปริมาณการซื้อสินค้ากลุ่มนมพาสเจอไรส์ รสจืด ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566  ถึง 30 กันยายน 2566 หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2565 คือ ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เมื่อปีที่แล้วจะพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาแบกรับภาระค่าใช้จ่าย-ต้นทุนเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารฟาร์มทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอาหารสัตว์ ค่ายาเวชภัณฑ์ วัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ รวมถึงราคาปุ๋ยเคมี เรียกว่า ทั้ง “องคาพยพ” ของการเลี้ยงโคนมมีต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันหมด และทุกอย่างส่งผลกระทบยึดโยงถึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากยังจำกันได้กระแสเรื่องราคาปุ๋ยและราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่กลางปี 2565 โดยสาเหตุที่ทำให้อาหารสัตว์แพงขึ้นมาจากวัตถุดิบหลักอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 10-17 เปอร์เซ็นต์ 

นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ป่วนร้านกาแฟหนัก แม่วัวพักเต้า-เกษตรกรขายฟาร์มทิ้ง

ทั้งนี้ “โคนม” เป็นสัตว์ที่มีต้นทุนในการเลี้ยงดูค่อนข้างสูง เฉพาะในส่วนของอาหารสัตว์โคนมจะต้องได้รับทั้งอาหารสด ถั่ว มันเส้น รำ กากน้ำตาล ต้นข้าวโพดสับ ฯลฯ เพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงดู

ในที่นี้ยังไม่นับรวมถึงต้นทุนส่วนอื่นที่ปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆ กันในรอบปีที่ผ่านมา อย่างค่าไฟ ค่ายาเวชภัณฑ์ รวมทั้งการมาถึงของโรคระบาด “ลัมปี สกิน” ที่แม้ว่าโคนมจะมีอัตราการเกิดโรคน้อยกว่าโคเนื้อ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องยกระดับการเลี้ยงดูเพื่อให้วัวมีสุขภาพแข็งแรง ต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น

  • “ฤดูพักเต้า” เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ตัวเลขที่ไม่สอดคล้องคือใจกลางปัญหา

อีกเหตุผลสำคัญที่เมื่อพลิกดูไทม์ไลน์เดียวกันกับปีก่อนจะพบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปี จะเข้าสู่ “ฤดูพักเต้า” หรือ “Dry Cow Period” ต้องเท้าความก่อนว่า พันธุ์โคนมที่เลี้ยงในไทยตอนนี้ คือ วัวสายพันธุ์ “โฮลส์ไตน์ฟรีเชียน” (Holstein Friesian) พันธุ์วัวที่มักผสมพันธุ์ติดได้ดีในช่วงอากาศหนาว คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ระยะเวลาอุ้มท้องของวัวจะอยู่ที่ 280 วันหรือ 9 เดือน

เมื่อแม่วัวคลอดลูกแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงจะทำการรีดน้ำนมดิบ โดยระยะเวลาที่สามารถรีดน้ำนมเก็บไว้ได้จะเริ่มตั้งแต่วันคลอดจนถึงรอบที่แม่วัวต้องเริ่มผสมพันธุ์ในรอบถัดไป นับเป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 90 วันดยแม่วัวจะผลิตน้ำนมได้เยอะที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จากนั้นจะค่อยๆ ผลิตน้ำนมได้น้อยลง และทำการ “พักเต้า” เพื่อรักษาสุขภาพแม่วัวในช่วงใกล้คลอดอีกครั้งซึ่งตรงกับเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ทำให้ในช่วงนี้ของทุกปีเราจะพบเจอกับภาวะตลาดขาดแคลนน้ำนมโคชั่วคราว และจะมี “ซัพพลาย” หมุนเวียนเพิ่มขึ้นในระบบอีกครั้งตามรอบการพักเต้า วนไปแบบนี้ทุกๆ ปี

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในรอบ 1-2 ปีมานี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย “ฤดูพักเต้า” เท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากต้นทุนที่ไม่สอดคล้องกับราคารับซื้อหน้าโรงงาน แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีมติคณะรัฐมนตรีปรับราคารับซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 20.50 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว จากเดิม 19.75 บาท แต่นั่นก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลที่เพิ่มขึ้นมากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี

อาจพูดได้ว่า สถานการณ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยง ณ ขณะนี้อยู่ในสภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” จะหยุดเลี้ยงและขายวัวทิ้งก็พบว่า ราคาตกจากเดิมมาก จะเลี้ยงต่อก็มีแต่ต้องแบกรับต้นทุนที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้ “ไทย” ต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนน้ำนมโคหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนมายังผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้

นมพาสเจอไรส์ขาดตลาด ป่วนร้านกาแฟหนัก แม่วัวพักเต้า-เกษตรกรขายฟาร์มทิ้ง

  • “ไทย” ขาด แต่ “สหรัฐ” เหลือทิ้ง

ในขณะที่ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำนมโค ด้านสหรัฐต้องทำการ “เททิ้ง” ทุกวัน โดยรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องเทน้ำนมส่วนเกินจากความต้องการในตลาดทิ้งลงท่อระบายน้ำต่อเนื่อง

ตามรายงานระบุว่า น้ำนมโคเป็นวัตถุดิบที่แตกต่างจากส่วนผสมอื่นๆ ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่สามารถหยุดการผลิตได้เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับโคนมนั้นผู้เลี้ยงไม่สามารถปิดเต้าให้วัวหยุดผลิตน้ำนมได้ ประกอบกับน้ำนมเป็นวัตถุดิบที่เน่าเสียง่ายและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ค่อนข้างแพง ครั้นเกษตรกรจะเก็บน้ำนมไว้เองก็ไม่มีพื้นที่มากพอ หากจะแปรรูปเพื่อคงสภาพน้ำนมให้อยู่ได้นานขึ้น ฟาร์มนมโดยส่วนมากก็ไม่มีศักยภาพตรงนั้น รวมถึงไม่มีช่องทางในการจัดจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภคที่ปลายน้ำ

“ลอรี ฟิสเชอร์” (Laurie Fischer) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “American Dairy Coalition” ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ฟาร์มโคนมหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยราคานมที่ตกลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่โควิด-19 เขายอมรับว่า ขณะนี้ไม่ใช่แค่ฟาร์มที่อยู่ทางตะวันตกตอนกลางหรือ “Midwest” เท่านั้นที่ตัดสินใจเทน้ำนมทิ้ง แต่ฟาร์มหลายแห่งรวมถึงในรัฐวิสคอนซิน เมืองผู้ผลิตเนยแข็งรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ตัดสินใจเทน้ำนมส่วนเกินทิ้งเช่นกัน

สำนักข่าวเดอะซีแอตเทิลไทม์ (The Seattle Times) ระบุว่า การผลิตน้ำนมทั่วสหรัฐพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการไต่ระดับจำนวนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการกลับมาของผู้บริโภค เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ สหรัฐผ่านพ้นช่วงระบาดใหญ่ น้ำนมที่มีกำลังการผลิตเท่าเดิมจึงอยู่ในสภาวะ “Over supply” ซึ่งขณะนี้ราคานมในตลาดลดลงติดต่อกันสามเดือนแล้ว ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ในอนาคต ฟาร์มโคนมอาจตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการส่งบรรดาโคนมส่วนเกินไปที่โรงฆ่าสัตว์แทน เนื่องจากเกษตรกรต้องปรับตัวต่อเนื่องจากราคาที่ตกต่ำ


ปัญหาสำคัญที่ “ไทย” และ “สหรัฐ” เผชิญร่วมกันขณะนี้ คือ ภาระที่ตกไปอยู่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงในฟาร์มที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยยังไม่มีทีท่าว่า ปัญหาการขาดแคลนและล้นเกินในตลาดจะมีทางออกเช่นไร นอกจากการเข้ามาสะสางปัญหาโดยภาครัฐอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะเป็นได้

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2KU KRDBLove FittCH7Seattle TimesThai PBSThairath 1Thairath 2ThansettakijAmarin TV