ส่งออกไทยเสี่ยงสูง ยื้อตั้งรัฐบาลใหม่ ฉุดแผนทำตลาด

ส่งออกไทยเสี่ยงสูง ยื้อตั้งรัฐบาลใหม่ ฉุดแผนทำตลาด

ม.หอการค้าไทย ชี้ส่งออกไทยครึ่งหลังปี 66 เสี่ยงหดตัวหนัก ห่วงตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเกิน ส.ค.จะหดตัว 2.5% ขาดแรงผลักดันโปรโมทตลาด ชี้สารพัดปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ภาวะแล้งจากเอลนีโญ เฟดขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินผันผวน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตสูง

การส่งออกไทยที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และล่าสุดเพิ่มปัจจัยเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายการส่งออกของไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 2566 และครึ่งหลังปี 2566 ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่ต้องติดแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1.กรณีจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามไทม์ไลน์ภายในเดือน ส.ค.2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยทั้งปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ283,738 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 1.2 % สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 142,244 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 3.1% 

2.กรณีที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค.2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ  279,891 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 2.5% สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 138,398 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 0.3%

“การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.2% ซึ่งถือเป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลอย่างมากในการกำหนดทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากยิ่งได้รัฐบาลเร็วก็จะมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดทิศทางการส่งออกและการเจรจาการค้า”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ประกอบด้วย

1.เศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยซึ่งอาจโตไม่ถึง 5% รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ชะลอตัว 3 ปีติดต่อกัน และปี 2566 คาดเศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.8% (ประมาณการณ์ เม.ย.2566) ชะลอตัวจาก 3.4% ในปี 2565

รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงในหลายประเทศ โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดลงแต่ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสหรัฐยังสามารถขยายตัว 

ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวไม่ถึง 5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วน 30 % ของเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศที่กำลังชะลอตัว และอัตราการว่างงานในกลุ่มหนุ่มสาว (16-24 ปี) มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเดือน มิ.ย.2566 มีอัตราการว่างงานสูงถึง 21.3% รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกของจีนที่ชะลอตัว

2.การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

กำลังซื้อในตลาดโลกลดลง

3.อัตราการว่างงานของประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง โดยผู้ว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 จำนวน 3 ล้านคน ทำให้จำนวนผู้ว่างงานสะสมทั่วโลกอยู่ที่ 208.3 ล้านคน หรือมีอัตราการว่างงาน 5.8%

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของโลกและประเทศคู่ค้าสูงขึ้นทำให้รายได้ต่อหัวของคนในโลกลดลง 0.9% และการส่งออกไทยหดตัว  0.01%

4.ค่าเงินที่ผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทรงตัวในระดับสูง อยู่ที่ 5.0-5.25% และมีโอกาสปรับขึ้นอีกเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในกรอบ 2% โดยในปี 2565-2566 ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 10 ครั้งดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่ CME Fedwatch Tool คาดว่าเป็นไปได้ 93% ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ5.25-5.50% ในปลายเดือน ก.ค.นี้

เอลนีโญ่ฉุดส่งออกสินค้าเกษตร

5.ปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยประเมินว่าจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัว 2.7-10.9% หรือคิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ 25,000-99,809 ล้านบาท 

รวมทั้งมีการประเมินว่าเอลนีโญกำลังเกิดขึ้นในปี 2566 และมีโอกาสจะยาวนานไปอีก 2-3 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยจะทำให้ปริมาณน้ำฝน

6.ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 77.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ 70-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาน้ำัมนดิบในปี 2566 อยู่ที่การลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกยืนยันว่าจะลดกำลังการผลิตลงเป็นพิเศษตั้งแต่เดือน ก.ค.ลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงรัสเซียจะลดการส่งออกน้ำมัน500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค.นี้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเป้าหมายผลผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน 

ห่วงต้นทุนการผลิตไทยสูง

นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในครึ่งหลังปี 2566 และต้องติดตาม ได้แก่ 

1.ต้นทุนการผลิตของไทยที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ค่าไฟฟ้าของไทยแพงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ราคาดีเซลไทยยังอยู่ระดับสูง และต้นทุนการผลิตไทยยังสูงเมื่อเทียบประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะค่าแรงที่นโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

2.เงินเฟ้อ (Inflation) เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในหลายประเทศหลัก หรือภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) ราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

3.สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังต้องจับตาทั้งจีน-สหรัฐ , จีน-ไต้หวัน และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งสร้างความผันผวนและไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การแบ่งขั้ว (Decoupling) ของห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศหรือการลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์ (De-Dollarization) ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวในการค้าขายกับประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรของสหรัฐ

ส.อ.ท.ห่วงดีมานด์ชะลอ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โดยปกติแล้วแนวโน้มการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีเป็นผลตามฤดูกาล โดยในปี 2566 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าจะหดตัว 2-0% เนื่องจากดีมานต์จากประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว รวมทั้งตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐ อินเดีย ลาตินอเมริกา อาเซียน รวมถึงจีนที่เศรษฐกิจกลับไม่โตอย่างที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันจีนก็เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดอาเซียน ทำให้ไทยมีสัดส่วนในการส่งออกในอาเซียนติดลบ 7% โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูป สินค้าเกษตร และอาหารสำเร็จรูป ขณะนี้มีเพียงรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยยังส่งออกได้ดี

ทั้งนี้ การโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีที่ยืดเยื้อและทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปกว่าไทม์ไลน์ในเดือนส.ค. จะไม่ได้กระทบแค่ภาคการส่งออกเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เนื่องจากรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2567 ได้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆ ยังชะลอตัว ทั้งจากภาคการลงทุนที่ชะลอการตัดสินใจรอดูผลการเลือกตั้ง และการใช้จ่ายในประเทศที่ไม่โตเรื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือน