เริ่มแล้วเทควอร์รอบใหม่ จีนคุมส่งออกแร่ทำชิป-อีวี

เริ่มแล้วเทควอร์รอบใหม่ จีนคุมส่งออกแร่ทำชิป-อีวี

เมื่อวันจันทร์ (3 ก.ค.) จีนประกาศว่าจะควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์กัลเลียมและเจอร์มาเนียมบางชนิดตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ผู้ส่งออกจะต้องมีใบอนุญาตส่งออกโลหะ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ

รู้จักเจอร์มาเนียมและกัลเลียม

เจอร์มาเนียม เป็นแร่หายากส่วนใหญ่เป็นบายโพรดัคจากการผลิตซิงค์และเถ้าถ่านหินลอยข้อมูลจากสมาคมพันธมิตรวัตถุดิบสำคัญ(CRMA) ระบุ จีนผลิตเจอร์มาเนียมราว 60% ของโลก ที่เหลือมาจากแคนาดา ฟินแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐ

ปีที่ผ่านมา ศุลกากรจีนรายงานวา จีนส่งออกเจอร์มาเนียมทั้งแปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูป 43.7 ตัน ส่วนข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) บอกว่า ปี 2565 มีการใช้เจอร์มาเนียมราว 39 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2564

ส่วนกัลเลียมพบปริมาณเล็กน้อยในแร่สังกะสีและบ็อกไซต์ โลหะกัลเลียมได้จากกระบวนการแปรรูปบ็อกไซต์เป็นอลูมิเนียม ราว 80% ของกัลเลียมผลิตในจีน

กัลเลียมนำไปทำกัลเลียมอาร์เซไนด์ใช้ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่สามารถผลิตกัลเลียมบริสุทธิ์ตามที่ต้องการได้ หนึ่งแห่งอยู่ในยุโรปที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นและจีน

ปี 2565 จีนส่งออกกัลเลียม 94 ตัน เพิ่มขึ้น 25% จากปี 2564

ปี 2565 สหรัฐนำเข้าโลหะกัลเลียมและเวเฟอร์กัลเลียมอาร์เซไนด์มูลค่าราว 3 ล้านดอลลาร์และ 200 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ การผลิตกัลเลียมที่มีความบริสุทธิ์ปีก่อนอยู่ที่ราว 290,000 กก. เพิ่มขึ้น 16% จาก 250,000 กก. ในปี 2564

ใครผลิตได้อีกบ้าง

ปี 2564 ญี่ปุ่น รัสเซีย และเกาหลีใต้ผลิตกัลเลียมได้เพียงเล็กน้อยราว 10 ตัน ในอดีตเยอรมนีและคาซัคสถานก็เคยผลิต  แต่เมื่อราคาขึ้นมามากในปี 2563 และ 2564 เยอรมนีประกาศว่าจะกลับมาผลิตกัลเลียมปฐมภูมิอีกครั้ง
เริ่มแล้วเทควอร์รอบใหม่ จีนคุมส่งออกแร่ทำชิป-อีวี

ขณะที่บริษัท Teck Resources ของแคนาดาเป็นผู้ผลิตเจอร์มาเนียมรายใหญ่สุดในอเมริกาเหนือ สกัดจากโรงหลอมของบริษัทในบริติชโคลัมเบีย บริษัท Indium Corporation ของสหรัฐผลิตเจอร์มาเนียมเช่นกัน ส่วนบริษัท Umicore ของเบลเยียมผลิตทั้งเจอร์มาเนียมและกัลเลียม

การใช้ประโยชน์

โลหะทั้งสองชนิดใช้ในชิปคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง และในภาคส่วนพลังงานทดแทนและกลาโหม

เจอร์มาเนียมเป็นองค์ประกอบหลักในใยแก้วนำแสง, ชิปคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง, พลาสติก และรังสีอินฟราเรด ตัวโลหะเจอร์มาเนียมและออกไซด์ใช้ในอุปกรณ์ทางทหารเช่น กล้องมองในที่มืด เซ็นเซอร์ภาพถ่ายดาวเทียม ทั้งยังมีความสำคัญต่อเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น แผงโซลาร์

บริษัทเวเฟอร์เวิลด์ของสหรัฐเผยว่า แผงวงจรเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำจากกัลเลียมอาร์เซไนด์แทนที่จะเป็นซิลิคอนสามารถใช้งานที่ความที่สูงกว่าและทนความร้อนได้ ทั้งยังมีเสียงดังน้อยกว่าอุปกรณ์ซิลิคอนโดยเฉพาะการใช้งานที่ความถี่สูง จึงมีประโยชน์ในเรดาร์และเครื่องมือสื่อสารวิทยุ ดาวเทียม และแอลอีดี

‘เทควอร์’จีน-สหรัฐ

จีนและสหรัฐติดหล่มสงครามเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2562 สหรัฐขึ้นบัญชีดำทางการค้าและออกข้อจำกัดส่งออกเหวี่ยงแห ไม่ให้จีนได้ส่วนประกอบเทคโนโลยีสำคัญและเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยีกลายเป็นจุดเน้นในศึกระหว่างสองมหาอำนาจ

นับถึงขณะนี้จีนไม่ได้ตอบโต้มากนัก ทำเพียงแค่ ประกาศให้ไมครอน บริษัทชิปสหรัฐเป็น“ความเสี่ยงใหญ่ด้านความมั่นคง” เมื่อเดือน พ.ค. ตอนนี้ปักกิ่งกำลังเล็งไปที่ภาคส่วนที่ตนแข็งแกร่ง เช่น โลหะและวัตถุดิบสำหรับทำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่จีนประกาศควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์กัลเลียมและเจอร์มาเนียมบางชนิด เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นักวิเคราะห์มองว่า เป็นการเลือกเวลาส่งสารไปถึงรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เนื่องจากประกาศก่อนวันชาติสหรัฐแบบฉิวเฉียด และก่อนเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐจะมาเยือนกรุงปักกิ่งในวันพฤหัสบดี (6 ก.ค.) เพียงไม่กี่วัน  ซึ่งรัฐบาลไบเดนตั้งใจเล่นงานภาคส่วนชิปจีน และผลักดันพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ให้ทำแบบเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนยังก่อให้เกิดความกังวลว่า ต่อไปจีนอาจจะควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากตามมา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อ 12 ปีก่อนตอนที่จีนพิพาทกับญี่ปุ่นเคยทำแบบนี้ ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากรายใหญ่สุดของโลก โลหะเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ในรถอีวีและเครื่องมือทางทหาร

ความเคลื่อนไหวรอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 และใหญ่สุดเท่าที่เคยมี เพื่อรับมือในเทควอร์อันยาวนานระหว่างจีนกับสหรัฐ มาตรการรอบแรกเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.เมื่อจีนห้ามอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศบางรายซื้อสินค้าจากไมครอน บริษัทผลิตเมมโมรีชิปของสหรัฐ

เว่ย เจี้ยนกั๋ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน เผยกับหนังสือพิมพ์ไชนาเดลี เมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) ว่า นานาชาติควรเตรียมรับมือไว้ให้ดีหากคิดกดดันจีนต่อไป เพราะการควบคุมการส่งออกรอบนี้ที่ “วางแผนมาอย่างดีแล้ว” เป็นแค่ “การเริ่มต้น”

“ถ้าข้อจำกัดพุ่งเป้าภาคส่วนไฮเทคของจีนยังมีอยู่ต่อไป มาตรการรับมือก็จะหนักยิ่งขึ้น” เว่ยระบุ เขาเคยเป็น รมช.พาณิชย์ระหว่างปี 2546-2551 ปัจจุบันเป็นรองประธานกลุ่มคลังสมอง“ศูนย์จีนเพื่อการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ” ที่รัฐสนับสนุน

ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของทางการจีน เผยแพร่บทบรรณาธิการเมื่อกลางดึกวันอังคาร (4 ก.ค.) ว่า นี่คือ “วิธีที่ทำได้จริง” ในการบอกสหรัฐและพันธมิตรว่า ความพยายามของพวกเขาที่จะควบคุมจีนไม่ให้ซื้อเทคโนโลยีก้าวหน้าเป็น “การคำนวณผิดพลาด”

ขณะนี้รัฐบาลวอชิงตันกำลังพิจารณาออกมาตรการใหม่จำกัดการส่งออกไมโครชิปไฮเทคไปให้จีน หลังจากออกมาตรการมาหลายระลอกช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าสหรัฐและเนเธอร์แลนด์จะจำกัดการขายอุปกรณ์ผลิตชิปให้จีนเพิ่มเติมอีก ส่วนหนึ่งของความพยายามป้องกันไม่ให้กองทัพจีนได้ใช้เทคโนโลยีสหรัฐและเนเธอร์แลนด์

หนึ่งวันหลังรัฐบาลจีนประกาศมาตรการใหม่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการตัดขาดและหลีกเลี่ยงการแยกส่วนซัพพลายเชน