ระบบ Net Metering ดีอย่างไร ทำไม? 'ประเทศไทย' ถึงยังไม่พร้อม

ระบบ Net Metering ดีอย่างไร ทำไม? 'ประเทศไทย' ถึงยังไม่พร้อม

เปิดข้อมูลระบบ Net Metering มีดีอย่างไร แล้วทำไม? รัฐบาลถึงยังไม่พร้อมการออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนใน "ประเทศไทย" ได้ใช้งาน

จากการที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญของการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อลดอุณหภูมิ แก้ปัญหาหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายโซลาร์ภาคประชาชนของประเทศไทย ถือเป็นอีกโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้คนไทยสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์จากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เอง ในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้ใช้เองส่วนใหญ่อยากให้รัฐผลักดันให้เกิดคือ การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไปที่เรียกว่าระบบ หรือที่เรียกว่า Net Metering

ล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.รับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน พบว่าประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้โดยมีเหตุผลหลักๆ ดังนี้    

1. ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟส่วนที่เหลือเข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หากจะคำนวณภาษีของการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องขอยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของกรมสรรพากร

2. ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง ซึ่งต้องเปลี่ยนขนาดอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่ เพิ่มภาระแก่ประชาชนที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์เป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้

3. ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้งโซลาร์รูปท๊อป เเพราะต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟสะอาดจะถูกกระจายกลับไปสู่ค่าไฟฟ้าผันแปล (Ft) และเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

ทั้งนี้ ผลการศึกษาสรุปว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบ Net Metering ได้แต่รัฐบาลยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาแบบเดิม คือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

หล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ระบบ Net Metering จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นระบบที่ดี จะช่วยจูงใจให้ประชาชนหันมาเห็นความสำคัญของพลังงานสะอาดจากปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ ที่มาจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งยังถือว่าเป็นพลังานที่ไม่สะอาด 100% ดังนั้น การที่ประชาชนช่วยกันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกประเภทยังคงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น พลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อประดับครัวเรือนในราคาหน่วยละ 2.20 บาทก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการผลิตไฟสะอาดใช้เองจะไม่มีต้นทุนจากเชื้อเพลิง แต่ยังมีต้นทุนจากโครงข่ายระบบไฟฟ้า อาทิ เสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า หม้อแปลง และมิเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นหากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าหายไปเพราะหันไปใช้โซลาร์รูฟท็อป ต้นทุนการลงทุนดังกล่าวก็จะถูกเกลี่ยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่กว่า 20 ล้านราย ที่ไม่มีกำลังติดตั้ง​โซลาร์รูฟท็อปทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

"การใช้ระบบ Net Metering จึงส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเป็นหลัก ไม่ได้เน้นให้ผลิตเพื่อการขายไฟฟ้า จึงเห็นว่าการกำหนดราคาที่รับซื้อจึงถูกกว่าราคาค่าไฟปกติ เพราะไม่มีต้นทุนเท่ากับไฟฟ้าปกติที่ใช้กัน"

นอกจากนี้ จากข้อมูลกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน​ (พพ.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ติดตั้งโซลาร์จะเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่ดี​ มีการใช้ไฟในช่วงเวลากลางวันที่สูง เช่น อาจจะมีผู้สูงวัยอยู่ที่บ้าน หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีการเปิดบริษัทในบ้านของตนเอง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของตัวเองลงแล้ว​ ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินได้ด้วย