เปิดเหตุผล 'พลังงาน' ปรับแผน ลดเป้ารับซื้อ 'โซลาร์ภาคประชาชน' 

เปิดเหตุผล 'พลังงาน' ปรับแผน ลดเป้ารับซื้อ 'โซลาร์ภาคประชาชน' 

"พลังงาน" ระบุ ราคาพลังงานผันผวน หนุนคนไทยหันมาต่อตั้งโซลาร์ภาคประชาชนมากขึ้น ผนวกกับ กกพ. ปรับเกณฑ์ระเบียบอำนวยความสะดวก ย้ำที่ขายเข้าระบบน้อยเพราะใช้งานเอง ล่าสุดปรับเกณฑ์รับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ระยะยาว 10 ปี จำนวน 90 เมกะวัตต์

Key Points

  • ราคาพลังงานผันผวน หนุนคนไทยติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชนมากขึ้น
  • ประชาชนขายไฟสะอาดเข้าระบบน้อย เหตุใช้งานเองคุ้มกว่า
  • กกพ. ปรับเกณฑ์รับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ระยะยาว 10 ปี จำนวน 90 เมกะวัตต์
  • เปิดรับซื้อไฟโซลาร์ภาคประชาชน 4 ครั้ง เข้าระบบเพียง 9 เมกะวัตต์ จากเป้า 260 เมกะวัตต์

นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากราราพลังงานที่ผันผวน และมีราคาสูงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) มีการปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจำนวนมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้มีการปรับลดเงื่อนไขและขั้นตอน โดยเฉพาะระยะเวลาในการขอเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้ทราบข้อมูลมากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาประชาชนสนใจมากขึ้น เข้าติดต่อขอเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสิ่งสำคัญของบ้านที่เข้าร่วมโครงการก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกหลังคา ยิ่งหากมีโครงสร้างเก่าและอันตรายก็จะยากต่อการขอติดตั้ง อีกทั้ง จากจำนวนที่เข่้าระบบซื้อขายไม่มากเนื่องจากประชาชนนิยมติดตั้งไว้ใช้เองมากกว่าที่จะนำไฟฟ้าเหลือใช้มาจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ส่วนหนึ่งอาจมองว่าเก็บไว้ใช้เองก็คุ้มแล้ว” นายพิสุทธิ์ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 สำนักงาน กกพ. โดย นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกกพ. ได้ลงนามเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การเปิดรับซื้อไฟฟ้า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่เปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 6 พ.ค. 2565 และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 โดยได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับ “แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1” 

ทั้งนี้ กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันบริหารจัดการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าตามกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่แตกต่างจากเดิมที่ กพช. เคยกำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนแบบปีต่อปี ประมาณปีละไม่เกิน 10-50 เมกะวัตต์ ปรับมาเป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573 รวม 90 เมกะวัตต์แทน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนตามคำสั่ง กพช. มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการรับซื้อไฟฟ้าได้ถึงเป้าหมายเลยสักครั้ง โดยในปี 2564 และปี 2565 เปิดรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนขายไฟฟ้ารวมเพียง 3-4 เมกะวัตต์ เนื่องจากราคารับซื้อไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย และในปี 2564 ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อเหลือ 50 เมกะวัตต์ พร้อมปรับราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังรับซื้อมาได้เพียงกว่า 3 เมกะวัตต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ซึ่งเป็นรอบที่ 4 ในการเปิดรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน ได้มีการปรับลดเป้าหมายรับซื้ออีกครั้งเหลือ 10 เมกะวัตต์ โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่ พ.ค. 2565 และเมื่อสิ้นสุดปี 2565 พบว่ามีประชาชนเสนอขายรวม 1.37 เมกะวัตต์ รวมเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนมา 4 ครั้ง (พ.ศ. 2562-2565) ได้ไฟฟ้ารวมราว 9 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์