พิษดอกเบี้ยขาขึ้น ดัน ‘ยอดล้มละลาย’ ทั่วโลกพุ่ง  กูรูห่วงผิดนัดชำระอื้อ

พิษดอกเบี้ยขาขึ้น ดัน ‘ยอดล้มละลาย’ ทั่วโลกพุ่ง  กูรูห่วงผิดนัดชำระอื้อ

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกทำ “ยอดขอยื่นล้มละลาย” ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ด้านนักวิเคราะห์กังวลอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระครั้งใหญ่ หรืออาจร้ายถึงขอปรับโครงสร้างงบดุล และเพิ่มทุนโดยใช้วิธีการมากมาย  

Key Points

  •  S&P Global Market Intelligence เผย ยอดการล้มละลายของบริษัททั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
  • ยอดล้มละลายของบริษัทในสหรัฐ
  • ภายใต้การดูแลของเอสแอนด์พีในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2553
  • สถานการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระครั้งใหญ่ หรืออาจร้ายถึงขอปรับโครงสร้างงบดุล และเพิ่มทุนโดยใช้วิธีการมากมาย

 

ท่ามกลางความปั่นป่วนของเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุด เอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) เปิดเผยว่า “ยอดการล้มละลาย” ของบริษัททั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยปริมาณการล้มละลายของบางประเทศแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 สำทับกับมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินว่าปัญหาดังกล่าวอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “การผิดนัดชำระหนี้”  ท่ามกลางสถานการณ์อุปสงค์ที่ลดลง สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อ ยอดหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยรายงานของเอสแอนด์พี ดังกล่าวยังระบุว่า "ยอดล้มละลาย"ของบริษัทในสหรัฐ ภายใต้การดูแลของเอสแอนด์พีในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ยอดการประกาศล้มละลายในอังกฤษและเวลส์ของภาคธุรกิจก็ใกล้แตะสูงสุดในรอบ 14 ปีเช่นเดียวกัน 

ส่วนยอดดังกล่าวในยุโรปและสวีเดนก็แตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษไปเรียบร้อยแล้ว ด้านยอดการล้มละลายในเยอรมนีเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปีก่อน นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่ในยอดการล้มละลายในญี่ปุ่น 6 เดือนแรกของปีนี้ก็เพิ่มขึ้น 32.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,042 แห่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ ตามปกติยอดการล้มละลายของบริษัทมักจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกำไรของบรรดาบริษัทต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดแรงงานกำลังฟื้นตัว ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า “ปัญหาการล้มละลายในระยะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ”

โดยการย้อนกลับไปในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลหลายประเทศเร่งออกโครงการช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมาก ขณะที่ระหว่างปี 2563-2564 บางประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎหมายหรือกฎระเบียบสำหรับบริษัทที่ต้องยื่นฟ้องล้มละลาย นำไปสู่การระงับความล้มเหลวขององค์กรต่างๆ ไว้อย่างผิดปกติ ดังนั้นเมื่อความช่วยเหลือหมดลง บริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาตัวเองได้จึงเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้

มากไปกว่านั้น จำนวนบริษัทที่ยื่นขอล้มละลายตามกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการล้มละลายที่เป็นการขอฟื้นฟูกิจการ (Chapter 11) ของสหรัฐเป็นครั้งที่ 2 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

  • พายุร้ายกำลังพัดเข้ามา 

ด้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้าง คาดการณ์ว่า บริษัทจำนวนมากมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงเวลายากลำบาก ซึ่งแตกต่างจากช่วงวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 ที่วิกฤติการผิดนัดชำระเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของบรรดาธนาคารกลางหลายประเทศ​ 

โดย นาวิด มาห์มูดซาเดกัน (Navid Mahmoodzadegan) ผู้ร่วมก่อตั้ง โมเอลิสแอนด์โค(Moelis & Co.) วาณิชธนกิจในสหรัฐ กล่าวเตือนว่า ระยะเวลากำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้จะถึงในช่วงปี 2567, 2568 และ 2569 และเมื่อถึงเวลาดังกล่าว “น่าเสียดายที่หลายบริษัทอาจจะไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้” ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาสู่เหตุการณ์อีกหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่การล้มละลาย ทั้งการปรับโครงสร้างงบดุล และการเพิ่มทุนโดยใช้วิธีต่างๆ มากมาย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์