‘กุ้ง’ ล้นตลาด ทำราคาดิ่งหนัก ชำแหละห่วงโซ่อุปทาน ‘ตลาดกุ้ง’ ทั่วโลก

‘กุ้ง’ ล้นตลาด ทำราคาดิ่งหนัก ชำแหละห่วงโซ่อุปทาน ‘ตลาดกุ้ง’ ทั่วโลก

สำรวจสถานการณ์ “กุ้งล้นตลาดโลก” พบ ดีมานด์สูงหลังเปิดประเทศ ผู้เลี้ยงเร่งผลิตเพิ่ม ทำสต๊อกล้น-ราคาดิ่งหนัก เศรษฐกิจถดถอยดันตลาด “สหรัฐ” ซบเซา ประเมิน “จีน” ผงาดอนาคตผู้ซื้อรายใหญ่

Key Points:

  • สถานการณ์ “กุ้งล้นตลาด” ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปทั้งตลาดโลก ผู้ส่งออกรายใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะ “Over supply”
  • สาเหตุสำคัญเกิดจากคู่ค้ารายใหญ่อย่าง “สหรัฐ” ลดการนำเข้าลง เนื่องจากวัตถุดิบล้นสต๊อก รวมถึงที่ผ่านมาสหรัฐต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
  • แม้ว่า “จีน” จะเป็นประเทศคู่ค้าที่น่าจับตามอง เพราะมีการนำเข้าอาหารทะเลและกุ้งจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับสหรัฐแล้ว “จีน” ยังมีตลาดเล็กกว่ามาก ไม่สามารถทดแทน-ชดเชยสัดส่วนการส่งออกที่หายไปได้

 

สถานการณ์ “กุ้งล้นตลาด” ยังคงตึงเครียด แม้ราคาหน้าแผงหลายแห่งจะยังคงที่ แต่แนวโน้มราคาหน้าฟาร์มกลับไม่สู้ดีนัก โดยตามรายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงไทยกำลังเผชิญกับปัญหากุ้งล้นตลาดจนราคาตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเป็นผู้รับภาระดังกล่าวในระยะยาวหากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องทิศทางราคากุ้ง 

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจเพิ่มเติมพบว่า สถานการณ์ “Over supply” ขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงผู้เลี้ยงไทยแต่ยังกินพื้นที่ตลาดกุ้งทั่วโลกด้วย 

ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ราคากุ้งทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการ “ล็อกดาวน์” ในช่วงแพร่ระบาดใหญ่ทำให้ตลาดโลกมีความต้องการวัตถุดิบสูงขึ้น ลากยาวมาจนถึงปลายปี 2564 ที่เริ่มมีการคลายล็อกในบางประเทศ หนุน “ดีมานด์” ภาคธุรกิจบริการ-ร้านอาหารเติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งถึงจุดอิ่มตัวทำ “ซัพพลายล้น” จนเป็นเหตุให้ตลาดกุ้งเผชิญกับวิกฤติอย่างเลี่ยงไม่ได้

‘กุ้ง’ ล้นตลาด ทำราคาดิ่งหนัก ชำแหละห่วงโซ่อุปทาน ‘ตลาดกุ้ง’ ทั่วโลก

  • ผลิตเยอะจนเกินความต้องการ: ที่มาที่ไปของสถานการณ์ “กุ้งล้นตลาด”

รายงานตลาดกุ้งโลกฉบับปี 2023 จาก “Research And Markets” คาดการณ์ว่า ตลาดกุ้งทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 69.35 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 โดย “กุ้ง” เป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก ดีมานด์ของกุ้งไม่ได้จำกัดเพียงธุรกิจอาหารเท่านั้นแต่ยังขยายตลาดไปยังภาคส่วนอื่นๆ อาทิ ธุรกิจยาเวชภัณฑ์ ธุรกิจเครื่องสำอาง เนื่องจากมีแร่ธาตุที่ประกอบด้วยคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระและริ้วรอย เป็นแหล่งโปรตีนและฟอสฟอรัสที่ดีเยี่ยม มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหาซื้อได้ไม่ยาก

ด้วยแนวโน้มการเติบโตที่ดูจะไปได้สวย ทำให้กุ้งมีทั้ง “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” เพิ่มขึ้น โดยความต้องการซื้อที่ว่านี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก รวมทั้งฝั่งเอเชียเองก็ยังนิยมบริโภคกุ้งอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การขยายตัวของตลาดอย่างรวดเร็ว 

ทว่า คาดการณ์ตามรายงานดังกล่าวกลับสวนทางกับสถานการณ์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยผู้บริหารบริษัท “สยาม แคนาเดียน” (Siam Canadian) ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของไทยให้ข้อมูลว่า เป็นเวลากว่าปีเศษๆ แล้วที่ซัพพลายเออร์ผู้ส่งออกกุ้งต้องเผชิญกับความต้องการซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะพันธุ์กุ้งที่ได้รับความนิยมอย่าง “กุ้งขาวแวนนาไม” สำหรับประเทศไทย หนึ่งในผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลกมีผู้นำเข้ารายใหญ่อย่าง “สหรัฐ” เป็น “คู่ค้า” สำคัญ ที่มีแนวโน้มลดการนำเข้า-ชะลอคำสั่งซื้อต่อเนื่อง ทำให้ยอดส่งออกกุ้งไทยเริ่มดิ่งหนักตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา 

ไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียว แต่สถานการณ์ตลาดกุ้งทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะ “Over supply” กันถ้วนหน้า โดยสาเหตุที่ทำให้กุ้งล้นตลาดเกิดจากราคาที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ขณะนั้นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ดีมานด์ผู้บริโภคทยอยกลับมา โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่มีกำลังซื้อผู้บริโภคเป็นแรงหนุน เมื่อความต้องการซื้อมากขึ้น ผู้ผลิตหลายรายจึงเพิ่มกำลังการผลิตหวังเสริมทัพ-เติมสต๊อกค้าปลีก

กระทั่งถึงจุดที่ “ซัพพลาย” มากกว่า “ดีมานด์” เป็นเหตุให้สินค้าคงคลังทะลัก โดยปัจจัยที่ทำให้สต๊อกล้นมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ตลาดผู้ซื้อรายใหญ่อย่าง “สหรัฐ” กำลังเผชิญอยู่ ภาคการบริโภค-กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนกำลังลง ทั้งยังเจอกับวิกฤติเงินเฟ้อต่อเนื่อง รวมถึงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าปีที่ผ่านมาภาคบริการในสหรัฐจะกลับมาคึกคักมากขึ้นแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการเกลี่ยสัดส่วนปริมาณกุ้งในตลาดอยู่ดี

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินตลาดส่งออกกุ้งไทยในปี 2566 ว่า จะมีการเติบโตเฉลี่ย -3.5 ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดสำคัญๆ อย่างสหรัฐและญี่ปุ่น ทำให้ดีมานด์ภายในประเทศลดลง “ไทย” จึงต้องเริ่มมองหาคู่ค้าใหม่ที่จะมาช่วยระบายสต๊อก ทั้งนี้ ปัจจุบันราคากุ้งขาวแวนนาไมในตลาดลดลงเหลือ 130 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ปี 2022 เคยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 210 บาทต่อกิโลกรัม ตัวเลขขณะนี้นับเป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี

‘กุ้ง’ ล้นตลาด ทำราคาดิ่งหนัก ชำแหละห่วงโซ่อุปทาน ‘ตลาดกุ้ง’ ทั่วโลก

  • เอกวาดอร์-อินเดีย-เวียดนาม เบียด “ไทย” ท้าชิงแชมป์ส่งออก

หากแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดผู้ผลิตกุ้ง และตลาดผู้ส่งออกกุ้งในปัจจุบัน มีผู้ครองตลาดดังนี้

  • ผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่: จีน, อินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, มาเลเซีย, ละตินอเมริกา และประเทศอื่นๆ 
  • ผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่: เอกวาดอร์, อินเดีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, จีน, ไทย และอาร์เจนตินา

จากรายงาน “Global Shrimp Market 2023” ระบุว่า ขณะนี้ “อินเดีย” เป็นซัพพลายเออร์กุ้งที่น่าจับตามองมากที่สุด ด้วยต้นทุนค่าแรงที่มีสัดส่วนต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตรายอื่น ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการเพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้ง ทั้งยังมีโรงเพาะฟัก-อนุบาลกุ้ง โรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูปที่ช่วยส่งเสริมรากฐานการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่พร้อมขยายตลาดในอนาคตต่อไปได้

ส่วน “เวียดนาม” มีอัตราการผลิตกุ้งเติบโตขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญจากการปรับสัดส่วนพันธุ์เพาะเลี้ยง เดิมทีเวียดนามเน้นเพาะพันธุ์ “กุ้งกุลาดำ” ซึ่งให้ผลผลิตต่ำกว่า “กุ้งขาวแวนนาไม” หลังปรับปรุงสัดส่วนการเพาะเลี้ยงทำให้มีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตกุ้งในเวียดนามจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งการเติบโตของตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการปรับเพิ่มค่าครองชีพในประเทศเมื่อช่วงกลางปี 2565 ด้วย

ด้าน “เอกวาดอร์” ที่รั้งแชมป์ส่งออกกุ้งมาหลายปี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาด “Over supply” เนื่องจากมีการเพิ่มผลผลิตอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่า ขณะนี้เอกวาดอร์กำลัง “ทุ่มตลาด” ในสหรัฐอย่างหนัก โดยใช้วิธี “ดั๊มป์ราคา” ให้ถูกกว่าผู้ส่งออกรายอื่น

ทั้ง “เอกวาดอร์” และ “อินเดีย” ต่างใช้กลวิธีแบบเดียวกันเพื่อชิงการเป็นเจ้าตลาด ขณะที่การแข่งขันตลาดอาหารทะเลในละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างดุเดือด แม้ว่าในสมรภูมินี้จะมีคู่ค้า-ผู้นำเข้ารายอื่นนอกจากสหรัฐ แต่ประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ก็ยังคงเป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ต้องการช่วงชิงความเป็น “เจ้าตลาด” มาให้ได้

“ตลาดกุ้ง” ในขณะนี้จึงเป็นการแข่งขันกันด้วย “เกมราคา” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยเสียเปรียบอยู่สองส่วน คือ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และการแข่งขันกับประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการทางการค้าที่ประเทศคู่ค้าเป็นผู้กำหนด แนวโน้มการส่งออกกุ้งไทยในขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับความต้องการในอนาคตของตลาดตามภาวะเศรษฐกิจ โจทย์สำคัญของ “ไทย” คือ หลังจากนี้จะมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งหมดอย่างไร

‘กุ้ง’ ล้นตลาด ทำราคาดิ่งหนัก ชำแหละห่วงโซ่อุปทาน ‘ตลาดกุ้ง’ ทั่วโลก

  • “จีน” เป็นความหวังขยายตลาดส่งออก แทนที่ “สหรัฐ” ?

สัดส่วนคู่ค้าผู้นำเข้ากุ้ง 5 อันดับแรกตามรายงาน “Global Shrimp Market 2023” ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU), สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยขณะนี้ “จีน” ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากกำลังประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยง ปริมาณการผลิตอาหารทะเลลดลง ทำให้มีสัดส่วนการนำเข้าอาหารทะเลด้วยปริมาณสูงขึ้นเพื่ออุดดีมานด์ในตลาด โดยเฉพาะส่วนของอุตสาหกรรมค้าปลีกและ “แคเทอริ่ง” หรืองานจัดเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสงค์จากจีนเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่สามารถอุดช่องโหว่ตลาดกุ้งในไทยได้ เนื่องจากตลาดจีนยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสหรัฐ แม้ขณะนี้จีนจะเป็นคู่ค้าที่มีส่วนช่วยพยุงตลาดส่งออกจากความต้องการกุ้งสดและกุ้งแช่แข็งจำนวนมาก แต่ดีมานด์ในส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถชดเชยให้กับอุปสงค์ที่หายไปในระยะยาวได้

ท่ามกลางความท้าทายในตลาดที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องกลับมาพิจารณาเพื่อฟื้นคืนอุตสาหกรรมกุ้งอีกครั้ง คือ การสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในตลาดที่มีศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง จากเดิมที่มีสหรัฐเป็นคู่ค้าหลักเพียงแห่งเดียว

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลอีกหลายประการในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาผลผลิตและต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงมาตรการของประเทศคู่ค้าที่มีส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นในตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่งออกกุ้งในปีนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อราคากุ้งในประเทศ และรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อองคาพยพตลาดกุ้งไทย ในระยะสั้นอาจเป็นการหารือพูดคุยกับโรงงานห้องเย็นและแปรรูปวัตถุดิบเพิ่มเติม ส่วนในระยะยาว การลดต้นทุน มองหาตลาดใหม่ วางแผนปรับกระบวนการ-เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้ง รวมถึงการรักษาเสถียรภาพเรื่องราคา จะช่วยให้ผู้ผลิตแข่งขันในสนามนี้ได้อย่างแข็งแรง

 

อ้างอิง: Asia NikkeiHimex,  Kasikorn ResearchPrachachatResearch and MarketsThe Hindu Business LineUndercurrent News