‘พลังงาน’ ชี้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงดีเซลได้ 3 เดือน หาก ‘คลัง’ ไม่ขยายเวลาลดภาษี

‘พลังงาน’ ชี้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงดีเซลได้ 3 เดือน หาก ‘คลัง’ ไม่ขยายเวลาลดภาษี

กระทรวงพลังงาน โอด หากกระทรวงการคลังไม่ขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล จะสามารถตรึงราคาดีเซลลิตรละ 32 บาท ได้ 3 เดือน ระบุ หากราคาดีเซลตลาดโลกพุ่ง ต้องเร่งขอคลังบรรจุวงเงินกู้เพิ่ม

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ถึงกรณีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะหมดอายุในวันที่ 20 ก.ค. 2566 นั้น กระทรวงการคลังจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่าสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มีศักยภาพที่จะสามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศได้แล้ว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับลดลงเป็นลำดับ และทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะเป็นบวก จนทำให้มีเงินไหลเข้าเฉลี่ยวันละ 389.13 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถเก็บเงินเข้าบัญชีได้ระดับเดือนละ 20,000 ล้านบาท สงผลให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 2 ก.ค. 2566 มีภาระหนี้สินเหลือเพียง 55,008 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีหนี้สูงถึง 130,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลของกระทรวงการคลัง ได้การลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐบาลรวม 158,000 ล้านบาท ดังนี้

1.วันที่ 18 ก.พ.- 20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท

2.วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

3.วันที่ 21 ก.ค. - 20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

4.วันที่ 21 ก.ย. - 20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

5.วันที่ 21 พ.ย.2565 - 20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

6.วันที่ 21 ม.ค. - 20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท

7.วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากข่าวที่ปรากฏมาหลายต่อหลายครั้งถึงแนวโน้มที่กระทรวงการคลังจะไม่ต่อมาตรการภาษีน้ำมันดีเซลนั้น ถือว่ากระทบต่อวงเงินที่จะต้องนำมาชะระคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 ซึ่งขณะนี้เหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท 

ปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรัฐบาล หาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ก็ต้องส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะสามารถลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลได้ ซึ่งการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ จะมีความคล่องตัวกว่าในการดำเนินการในช่วงเวลานี้

ซึ่งต้องดูว่าสถานการณ์ที่กำลังจะมีคือ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะนี้น้ำมันดีเซลถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ที่ลิตรละประมาณ 5.43 บาท หากไม่มีการต่ออายุมาตรการจะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นทันที ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะยังคงใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปช่วยดูแลเพื่อพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ที่ลิตรละ 32 บาทต่อไปอีกระยะโดยจะไม่ปรับขึ้นทันที แต่อาจจะพยุงราคาได้ประมาณ 3 เดือน 

สำหรับสถานกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบัน วันที่ 2 ก.ค. 2566 ติดลบ 55,008 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 9,180 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม LPG ติดลบ 45,828 ล้านบาท และได้มีการกู้เงินเพื่อชำระหนี้ผู้ค้ามาตรา 7 แล้ว 50,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการกู้อีก 20,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าบัญชีในเดือนก.ค. 2566 

"จากทิศทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ หลัก ๆ คือการคืนผู้ค้า จ่ายคืนดอกเบี้ย หากกระทรวงการคลังไม่ต่อภาษีลิตรละ 5 บาท เราจะเหลืออยู่ที่ลิตรละ 43 สตางค์ บวกกับที่เก็บจากเบนซินระดับเกือบ 3 บาท ก็จะดูแลได้ระดับ 3 เดือนที่ลิตรละ 32 บาท กรณีที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน" 

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานก็จะต้องทบทวนสถานการณ์ใหม่ อาทิ การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องตามกรอบวงเงินที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 150,000 ล้านบาท ซึ่งบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะไปแล้ว 110,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออีก 40,000 ล้านบาท โดยหากจะขอวงเงินกู้เพิ่มในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่และยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการจะต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบต่อไป