'ราคาน้ำมัน'-'เงินเฟ้อ'จุดเสี่ยงเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยบนเงื่อนไขการเมือง

'ราคาน้ำมัน'-'เงินเฟ้อ'จุดเสี่ยงเปลี่ยน  เศรษฐกิจไทยบนเงื่อนไขการเมือง

ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังแล้วทิศทางเศรษฐกิจยังอยู่บนความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจโลกและต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยที่พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจจากหลายสำนักชี้ไปในทิศทางที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)และสมาคมธนาคารไทย ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 29-30 ล้านคน เป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ดี กกร.ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังคงเติบโตประมาณ 3.0 - 3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย อีกทั้งภาคการผลิตยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกก็ยังคงหดตัวมากขึ้นและภาวะเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังต่ำจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน

\'ราคาน้ำมัน\'-\'เงินเฟ้อ\'จุดเสี่ยงเปลี่ยน  เศรษฐกิจไทยบนเงื่อนไขการเมือง

 

เงินเฟ้อไทยต่ำสุดรอบ 22 เดือน

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิ.ย.2566เท่ากับ107.83เทียบกับเดือนมิ.ย.2565เพิ่มขึ้น0.23%ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ22เดือน จากปัจจัยราคากลุ่มเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง และฐานราคาปี2565อยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น2.49%  ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิม 1.7-2.7%ค่ากลาง 2.2%เป็น 1-2%ค่ากลาง 1.5% 

"เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยสินค้าบางชนิด เช่น ผักและผลไม้  มีแนวโน้มสูงขึ้นจากภัยแล้ง การไม่ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หากขึ้นทันที จะกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.26%แต่ถ้ามีมาตรการอื่นมาช่วยชะลอ ก็จะกระทบไม่มาก”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการหารือกันของรัฐบาลเรื่องการดูแลราคาน้ำมันดีเซลได้พิจารณาแนวทางในการดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้วิธีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร แต่แนวทางดังกล่าวใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบทำให้ต้องมีมาตรการลดภาษีเพื่อช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งมาตรการจะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้ 

จ่อใช้กองทุนน้ำมันฯตรึงราคาดีเซลแทนลดภาษีฯ 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า กองทุนน้ำมันมีสภาพคล่องและสามารถดูแลราคาน้ำมันในประเทศได้ 

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรัฐบาล หาก ครม.มีการอนุมัติให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ก็ต้องส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาซึ่งก็ต้องใช้เวลาทำให้การใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯจะมีความคล่องตัวกว่าในการดำเนินการในช่วงเวลานี้

เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนมองว่าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ตามไทม์ไลน์คือแล้วสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เศรษฐกิจจะสามารถฟื้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ขณะนี้ยังคงรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากยังดำเนินการล่าช้าอาจส่งผลให้นักลงทุนกลุ่มนี้ เริ่มต้นลงทุนในจุดหมายปลายทางอื่น นอกจากนี้ หากมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ จะส่งผลบวกต่อการเริ่มต้นเบิกจ่ายงบประมาณ เริ่มการลงทุนในส่วนของภาครัฐ ให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ภาคส่งออกสะดุด

“กกร. เราเห็นพร้อมกันว่าการตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างช้าในเดือน ส.ค.นี้ เพราะหากเว้นว่างไว้นานจะทำให้เสียโอกาส ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกเพิ่งพาไม่ได้ ซึ่งจากการหารือกับ 20 อุตสาหกรรมก็ออกมายอมรับว่าขณะนี้ออเดอร์เริ่มหดตัวแล้ว 

ดังนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ นอกเหนือจากการพึ่งพาการท่องเที่ยว การลงทุนจากภาคเอกชน และภาครัฐจากงบประมาณเบิกจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ”

เอกชนเร่งส่งออกไปตลาดใหม่

ทั้งนี้ กกร.ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาการส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก การเปิดตลาดใหม่ๆ จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งผลักดันการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) เพื่อเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย

ความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังสร้างความหวาดหวั่นไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือนที่เงินเฟ้อโดยรวมยังสูงอยู่ ส่วนมาตรการตรึงราคาน้ำมันใกล้จะหมดอายุลง

“เศรษฐกิจ” จึงเป็นหนึ่งในหลายๆงานที่รอรัฐบาลใหม่มาให้ความชัดเจนท่ามกลางความไม่แน่นอนขั้นกว่าของ“เงื่อนไขทางการเมือง”