ภาระหนี้หลอน 'กฟผ.' ทำค่าไฟฟ้างวดก.ย.-ธ.ค.ลดได้แค่ 20 สตางค์

ภาระหนี้หลอน 'กฟผ.' ทำค่าไฟฟ้างวดก.ย.-ธ.ค.ลดได้แค่ 20 สตางค์

“กกพ.” ยืนยันค่าไฟงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 ลดได้แค่ 20 สตางค์ต่อหน่วย เหตุต้องจ่ายหนี้กฟผ. เปิด 3 ทางเลือกฟังเสียงประชาชน ระหว่างวันที่ 7 – 21 ก.ค. นี้ ด้าน “กกร.” เร่งยื่นหนังสือถึงนายกฯ สัปดาห์หน้า หวังขอค่าไฟ 4.25 บาทต่อหน่วย

รายงานข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 ก.ค. 2566 จะเปิดเวทีชี้แจงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อกำหนดเป็นอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้คือในรอบเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน และผู้ประกอบการ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 – 21 ก.ค. 2566 

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจะแบ่งสมมุติฐานออกเป็น 3 ทางเลือกเช่นเดิม โดยเบื้องต้นจะมีทางเลือก ทั้งการลดอัตราค่าไฟได้สูงสุดมากกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย หรือการจัดเก็บค่าไฟงวดใหม่จะต่ำกว่า 4.50 บาทต่อหน่วย จนถึงตรึงราคาอยู่ในระดับเดิม คือ 4.70 บาทต่อหน่วย เป็นต้น

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีตามปกติมาจาก 1. อัตราแลกเปลี่ยน 2. น้ำมันดิบ Brent 3. Pool Gas/ราคา LNG Spot และ 4. Generation Mixed เป็นต้นแล้ว ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากปกติ คือ 1. การคืนภาระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2. การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามมติ กพช. 3. ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย/ก๊าซในเมียนมา/แอลเอ็นจี และ 4. ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ตามสถานการณ์โลก ราคาถ่านหิน/น้ำมันเตา/น้ำมันดีเซล เป็นต้น

“ตัวแปรสำคัญของสมมุติฐานที่นำมาคำนวณ คือ การผ่อนจ่ายหนี้คงค้างของกฟผ. มูลค่า 130,000 ล้านบาท ว่าจะยืดการจ่ายหนี้ได้อีกหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวการพิจารณาอัตราค่าไฟล่าสุด ยังไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากเอกชนมองว่า ค่าไฟงวดใหม่ควรลดได้มากกว่า 45 สตางค์ต่อหน่วย หรือไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมากกพ. ระบุว่า อาจลดได้ประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ สิ่งที่สำนักงานกกพ. ยังคงเป็นห่วง คืออัตราค่าเอฟทีงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่แนวโน้มราคานำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสภาพอากาศของยุโรป ก็อาจจะมาเฉลี่ยกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยตรงนี้ก็ไม่อาจจะทำให้ค่าไฟลดลงเท่าที่หลายฝ่ายต้องการ ดังนั้น อาจจะต้องมีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แสดงความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าและชี้ว่าหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีแล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 2566) คาดว่า ไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.70 บาทต่อหน่วย เนื่องจากปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ก.ค. 2566 และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนธ.ค. 2566 นี้

ขณะที่ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีลดลง, ราคาแอลเอ็นจี สปอท ลดลงมากกว่า 30%, ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ของกฟผ. ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง ราคาแอลเอ็นจีต่ำกว่าที่เรียกเก็บ แม้ว่า ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตามกกร. ได้เสนอภาครัฐให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่าเอฟทีลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งกฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนส.ค. 2568 และขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิงแอลเอ็นจี มอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียว ในการจัดหาเพื่อเป็นการสกัดดีมานด์เทียมจากชิปเปอร์หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดใหม่ เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ 

ทั้งนี้ จะเป็นการจัดหาในราคาเฉลี่ยแอลเอ็นจีช่วงราคา 14-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งกกร. มีความกังวลว่า หากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคาแอลเอ็นจี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก โดยกกร.จะมีหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเพื่อดำเนินการไม่เกินสัปดาห์หน้า