สรท. คาดส่งออกปี 66 ติดลบ 0.5%-1% โอดปีหน้าท้าทายกว่า จี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้

สรท. คาดส่งออกปี 66 ติดลบ 0.5%-1% โอดปีหน้าท้าทายกว่า จี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้

“สรท.” ชี้ส่งออกครึ่งปีแรกยังติดลบ ปัจจัยเศรษฐกิจคู่ค้าหลักฟื้นต้วช้า-ต้นทุนค่าไฟ-วัตถุดิบการผลิตสูง เร่งตั้งรัฐบาลร่วมแก้ปัญหา คาดทั้งปี 2566 ยอดส่งออกอยู่ที่ติดลบ 0.5%-1% จับตาความท้าทายปี 2567 ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” กระทบต่อภาคการเกษตรไทยโดยตรง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพ.ค. 2566 อยู่ที่ 24,340 ล้านดอลลาร์หดตัว 4.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 830,448 ล้านบาท หดตัว 2.8% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 26,190 ล้านดอลลาร์ส หดตัว 3.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 904,563 ล้านบาท หดตัว 1.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพ.ค. 2566 ขาดดุลเท่ากับ 1,849 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 74,115 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.– พ.ค. 2566 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 116,344 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,941,426 ล้านบาท หดตัว 2.4% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงม.ค.- พ.ค. 2566 หดตัว 2.1%

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 122,709 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,210,326 ล้านบาท ขยายตัว 0.2% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.- พ.ค. 2566 ขาดดุลเท่ากับ 6,365.3 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 268,901 ล้านบาท

“ส่งออกเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือนม.ค. จึงมองว่าการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย แจึงมองว่า เดือนมิ.ย.น่าจะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญคือ อินเดีย”

นอกจากนี้ ในช่วงสิ้นปี 2566 ยังต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะภาคอาหารอย่าง น้ำตาลทราย เพราะยุโรปจะปิดโควต้าผู้ส่งออก จะต้องดูว่าจะสามารถขยายตลาดไปที่อื่นได้หรือไม่ ส่วนข้าว จะเกิดปัญหาในเรื่องของ Supply เพราะปรากฎการณ์เอลนีโญ จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งได้ และกระทบต่อซัพพลายที่น้อยลง แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิย. 2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีนั้นพบว่าอ่อนค่า 1.7% หากดูวันนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ก็เป็นทศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขติดลบอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเดือนมิ.ย. 2566 คาดว่า อย่างน้อยการส่งออกจะอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะใกล้เคียงกับเดือนพ.ค. ดังนั้น จะต้องมุ่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกgเกือบ 20% รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน เป็นต้น

“ช่วงสถานการณ์เอลนินโญจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566-มิ.ย. 2567 จึงต้องดูปริมาณน้ำฝนในช่วงที่จะเกิดขึ้นที่จะกระทบกับภาคเกษตรกรรม ทั้ง ข้าว อ้อย ทุเรียน มะม่วง และมะพร้าว เป็นต้น โดยกรมชลประทานได้ประมาณการปริมาณน้ำในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 36,250 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 53% ของความจุปริมาณเก็บน้ำทั่วประเทศที่มี 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน่าจะมีการบริหารจัดการได้ โดยพื้นที่ทำการเกษตรแบ่งออกเป็นเขตชลประทาน 24% และเขตนอกชลประทาน 74%”

ทั้งนี้ สรท. ได้คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ระหว่าง -0.5% ถึง 1% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน หลังจากการเปิดประเทศของจีนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ส่วนดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐ ลดต่ำลงอยู่ที่ 46.3 ในขณที่และยุโรปอยู่ที่ 43.6

2. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ

3. ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย 

4. ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ เอลนีโญ ต่อภาคการเกษตรในประเทศ

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท. ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย

1. เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

2. ขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ย

3. เร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

4. เร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

“อยากฝากรัฐบาลดูเรื่องอัตราดอกเบี้ยโดยแต่เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย รวมถึงราคาน้ำมันดีเซล และค่าไฟ ซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีค่อนข้างสาหัส เราจะต้องฝ่าวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน ทางภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานแบบเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ และสิ่งสำคัญสุด แม้เราผ่านปีนี้ไปได้แต่โจทก์ใหญ่ปี 2567 รออยู่ การตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพเพื่อให้ทำงานส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำโจทย์ใหญ่เรื่องนี้อย่างมีระบบและมีกลยุทธ์ร่วมกัน”