'พลังงาน' เร่งลดต้นทุนค่าไฟ 'สอท' กดดันหั่นค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.

'พลังงาน' เร่งลดต้นทุนค่าไฟ 'สอท' กดดันหั่นค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.

"พลังงาน" เร่งลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ระบุ แหล่ง “เอราวัณ” สามารถเพิ่มกำลังผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว มั่นใจจะกลับมาผลิตได้ตามสัญญาเดือนเม.ย. 2567 ด้าน "สอท." จี้ ลดค่าไฟงวดปลายปีเหลืออย่างน้อย 4.25 บาท 'สอท' กดดันหั่นค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.

ปัญหาความล่าช้าจากการส่งมอบแหล่งผลิตและสำรวจแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิมให้กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ส่งผลต่อปริมาณก๊าซที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ตามกำหนดที่ปริมาณวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจรในราคาที่สูงและส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และเร่งรัดการผลิตก๊าซ

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากเร่งดำเนินงานตั้งแต่วันที่เข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2565

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะ 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีก 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ณ สิ้นเดือนพ.ค.2566 ได้เจาะหลุม 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานปี 2566 จำนวน 273 หลุม ทำให้รักษาอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2566

สำหรับ ปตท.สผ.ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงเอราวัณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธ.ค.2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 โดยจะดำเนินงานสำคัญเพิ่มภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม การบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะ

\'พลังงาน\' เร่งลดต้นทุนค่าไฟ \'สอท\' กดดันหั่นค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟงวด 3 หรืองวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ควรลดลงกว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.) หรือไม่เกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย แต่การจะลดลง 20 สตางค์ต่อหน่วยตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มองว่าไม่เหมาะสม โดยสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟงวด 3 ลดได้มาจาก 5 ปัจจัย คือ 

1. ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยสูงขึ้นเพราะแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี ซึ่งราคาก๊าซในอ่าวไทยต้นทุนอยู่ที่ระดับ 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านลูกบาศก์ฟุต 

2. ปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้าลดลง 

3. ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรลดลงมากกว่า 30% ราคาไม่เกิน 14 ดอลลาร์ต่อล้านลูกบาศก์ฟุต จาก 20 ดอลลาร์ต่อล้านลูกบาศก์ฟุต 

4.ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 5.หนี้ของการไฟฟัาฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) งวด 1 (ม.ค.-เม.ย.) และงวด 2 (พ.ค.-ส.ค.) ปีนี้ลดลงเร็วกว่าแผนเพราะต้นทุนจริงของก๊าซธรรมชาติเหลวที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)

ส่วนปัจจัยลบที่จะกระทบต่อราคาค่าไฟมองว่ามีแค่เรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ดังนั้น สิ่งที่เอกชนและประชาชนอยากเห็นในการบริหารค่าไฟฟ้าที่ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วยภาระค่าเอฟที เป็นระบบคอสพลัสที่ผลักเป็นภาระผู้บริโภค และภาครัฐในทุกระดับนโยบายควรมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้

1.ฝ่ายนโยบาย ควรให้แนวทางบริหารที่เหมาะสม ในแต่ละสถานการณ์ อาทิ การแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายโรงไฟฟ้า, ปลดล็อคด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะโซลาร์และการเร่งจัดหาแอลเอ็นจีก่อนหน้าหนาวในยุโรป

2.ฝ่ายควบคุม ควรประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง และเปิดเผยข้อมูล อาทิ สมมุติฐาน ต้นทุนต่าง ๆ ในการคำนวณค่าเอฟที รวมทั้งพิจารณาการคาดการ์ต้นทุนที่เร็วกว่ารอตามงวด 4 เดือน

3.ฝ่ายผู้ปฏิบัติการ ควรมีส่วนร่วมบริหารแบบทีมเดียวกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าของประเทศให้ดีที่สุด รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบตามหลักธรรมาภิบาล

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ปัจจัยที่จะกระทบค่าเอฟทีตามปกติมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยน 2.น้ำมันดิบ Brent 3.Pool Gas/ราคา LNG Spot และ 4.Generation Mixed 

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากปกติ คือ 

1.การคืนภาระหนี้ให้ กฟผ. 

2.การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามมติ กพช. 

3.ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและก๊าซในเมียนมา 

4.ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ตามสถานการณ์โลก ราคาถ่านหิน น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล

“จากประมาณการณ์ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งมาพบว่าราคา Pool Gas ลดลง 55.5 บาทต่อ MMBTU และหากคืนหนี้ให้กฟผ.ตามที่เคยเสนอมางวดละ 20,000 ล้านบาท จะทำให้ค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ลดลงอย่างน้อย 20 สตางค์ต่อหน่วย ขณะนี้ สำนักงาน กกพ.กำลังเตรียมสนอคณะอนุกรรมการค่าเอฟทีต้นเดือน ก.ค.2566 ก่อนเสนอ กกพ.ภายในเดือน ก.ค.นี้”