ครม.รับทราบหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ส่งรัฐบาลหน้าสางหนี้ให้ 'บีทีเอส'

ครม.รับทราบหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ส่งรัฐบาลหน้าสางหนี้ให้ 'บีทีเอส'

ครม.หารือหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวรับทราบหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระให้บีทีเอสได้ วงเงินรวมกว่า 8 หมื่นล้าน เตรียมส่งต่อรัฐบาลหน้าแก้หนี้ให้บีทีเอส รับรัฐบาลรักษาการเดินหน้าได้ลำบาก ขณะที่ กทม.ชงใช้รูปแบบPPP เดินหน้าโครงการ

นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ ทั้งนี้ตามมติครม.เดิมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กลับไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีข้อสงสัย เมื่อทางกทม.ได้สรุปข้อมูลต่าง ๆ เสร็จเข้าใจได้เสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.ใหม่พิจารณา ก่อนแจ้งกลับมายังกระทรวงมหาดไทย และนำมาเสนอครม. วันนี้

ครม.รับทราบหนี้ \'รถไฟฟ้าสายสีเขียว\' ส่งรัฐบาลหน้าสางหนี้ให้ \'บีทีเอส\'

ที่ผ่านมาครม. ได้หารือเรื่องนี้มากกว่า 7 ครั้ง และทางกระทรวงคมนาคมก็มีความเห็นกลับไปว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งในการประชุมครม.ครั้งก่อนนอกจากจะให้กระทรวงมหาดไทย โดยกทม. ชี้แจงข้อสงสัยทั้งหมดแล้ว ก็ขอให้แจ้งสถานะโครงการล่าสุดมายังครม.รับทราบ โดยเฉพาะตัวเลขต่าง ๆ มาให้ชัดเจนด้วย

กทม.ได้แจ้งกลับมาว่า ปัจจุบันโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมดชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ กทม.มีภาระหนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินนี้แบ่งเป็นรายการต่าง ๆ ที่จะต้องของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล


“กทม.ได้มารายงานข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการให้ครม.รับทราบว่า เหตุการณ์เรื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังเดินอยู่อย่างนี้ เพื่อให้ครม.รับทราบเฉย ๆ แต่ไม่ได้อนุมัติอะไร และคงต้องเสนอให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อไป”


ในส่วนข้อมูลภาระหนี้ของโครงการล่าสุดที่กระทรวงมหาดไทย แจ้งครม.ครั้งนี้ อาจยังไม่รวมเรื่องของการเดินรถ เพราะอาจจะมีวงเงินสูงกว่านี้

 

สำหรับปัจจุบันหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งออกเป็น

ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท


ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท

 

แต่ในเอกสารที่เสนอมาในครม.ยังไม่ได้มีรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว มีเพียงวงเงินที่เสนอมาเป็นภาระหนี้ 78,830 ล้านบาทเท่านั้น


อย่างไรก็ตามในที่ประชุมครม.วันนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีความเห็นอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่รับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งทางกทม. ได้รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้ชี้แจงข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากเอกสาร เช่น การของบจากสภากทม. รวมทั้งยังรายงานเรื่องของสัมปทานเบื้องต้นว่า กทม.อยากให้ใช้การดำเนินการตามรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แทน เพราะมีความเหมาะสมกว่า

รายงานข่าวจาก ครม. ระบุว่า การรายงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเข้าต่อครม.ครั้งนี้ เป็นการรายงานแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอของกทม. โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของการขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ

สำหรับการดำเนินโครงการนั้น จะรวมการสนับสนุนงบประมาณค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด 
ปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830 ล้านบาท แยกเป็น ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน และค่าจัดกรรมสิทธิ์ 5.5 หมื่นล้าน ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม. ได้จ่ายให้กระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2562-64 จำนวน 1,508 ล้านบาท และค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 2.2 หมื่นล้านบาท

 

ในช่วงเช้าของวันนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (5 ก.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องชำระหนี้ให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ และการเดินรถ ให้กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) รวมวงเงินประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท 

แหล่งข่าวกล่าวว่าการรับทราบหนี้ 7.8 หมื่นล้านบาท ครั้งนี้เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไป เนื่องจากการแก้ปัญหาหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป 

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ ออกมาระบุว่า กทม.จะผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนของค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

 ซึ่งเป็นหนี้ที่ครบกำหนดชำระ เป็นหนี้ที่ภาคเอกชนลงทุนจริง ซึ่งหนี้ส่วนนี้ กทม.รับทราบและเตรียมการมาตลอด แต่การจ่ายหนี้ให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากทางสภา กทม.ก่อน เบื้องต้นหากสภา กทม.อนุมัติก็มีความพร้อมจ่ายหนี้ทันที โดยจะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ราว 4-5 หมื่นล้านบาทไปดำเนินการ