ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ยังคงมีหลายเหตุการณ์ที่น่าจับตามอง ทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่อาจชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง รวมไปถึงปัจจัยกดดันอื่นๆ ที่ต้องติดตาม

ทิศทาง ราคาน้ำมันดิบ ในไตรมาส 2 ยังค่อนข้างทรงตัวจากช่วงไตรมาส 1 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 (เม.ย.-พ.ค. 66) ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยอยู่ที่ 79.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สืบเนื่องมาจากภาวะอุปทานในตลาดที่ตึงตัวมากขึ้นหลังการประชุมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร หรือ OPEC+ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 66 มีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน อิรัก แอลจีเรีย คาซัคสถาน และกาบอง อาสาลดการผลิตโดยสมัครใจเพิ่มเติมรวม 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายแผนลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากในเดือน มี.ค.-มิ.ย. 66 ต่อออกไปจนถึงเดือน ธ.ค. 66 ทำให้ปริมาณลดการผลิตรวมในเดือน พ.ค.- ธ.ค. 66 อยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็ยังถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางหลายแห่ง นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED เดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลพ่วงจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงนี้เอง ทำให้เกิดวิกฤติขึ้นกับธนาคารขนาดกลางขนาดเล็กหลายแห่งของสหรัฐ มีปัญหาจากสภาพคล่อง จนสุดท้ายไปต่อไม่ไหวก็ต้องปิดตัวลงไป

นอกจากนี้ มีแรงกดดันจากเรื่องการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ แต่สุดท้ายแล้วก็สามารถตกลงกันได้ ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่า อุปสงค์น้ำมันโลกยังคงโตต่อเนื่อง โดยทางสำนักงานพลังงานสากล International Energy Administration (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือน เม.ย. 66) โดยได้รับอานิสงส์ หลังจีนยุตินโยบายการควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวด แล้วกลับมาเปิดประเทศเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นมา

ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 17.4% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนอื่นๆ อีกทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในสหรัฐที่มีการเดินทางมากขึ้น ซึ่งปีนี้บรรยากาศคึกคัก

สำหรับช่วงฤดูท่องเที่ยวของสหรัฐ เริ่มต้นในวัน Memorial Day คือ วันที่ 29 พ.ค. 66 จนถึงวันแรงงานของสหรัฐ วันที่ 4 ก.ย. 66 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ Energy Information Administration (EIA) คาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวของสหรัฐในปี 2566 จะคึกคักกว่าปีก่อน หลังราคาขายปลีก Gasoline ปีนี้ปรับตัวลงจากปีก่อน 20% เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน (ประมาณ 31 บาทต่อลิตร) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน (ประมาณ 39 บาทต่อลิตร)

นอกจากนี้ในช่วงตั้งแต่ 1 มิ.ย.- 30 พ.ย. 66 บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกจะเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม ซึ่งในปีนี้ทางองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) หรือโนอาคาดว่าจะมีพายุ 12-17 ลูก ซึ่งจะยกระดับเป็นพายุเฮอริเคน 5-9 ลูก และทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงสูง 1-4 ลูก (ความเร็วลม 178 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในบริเวณอ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) อาจชะงัก ส่วนในฝั่งอุปทานดูแล้วยังตึงตัว หลังล่าสุดทางกลุ่ม OPEC+ ได้ตัดสินใจที่จะขยายเวลาในการลดการผลิตน้ำมันออกไปอีก 1 ปีเต็ม โดยซาอุดีอาระเบียพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกจะลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การประชุมกลุ่ม OPEC+ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 66 มีมติขยายเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2567 จากเดิมจะสิ้นสุดปีนี้ และยังไม่หมดเท่านั้น เพราะตลอดทั้งปี 2567 จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ (Baseline Production) ลงอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 40.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนทางซาอุดีอาระเบียประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 66 เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซาอุดีอาระเบียจะติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และอาจจะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้ หากดูแล้วเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และจีนจะเติบโตช้ากว่าคาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่า ราคาจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในครึ่งหลังของปี 2566 จะแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 75 – 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากมุมมองเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยธนาคารกลางโลกปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ปี 2566 อยู่ที่ระดับ +2.1% เทียบจากปีก่อน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 ซึ่งเคยคาดไว้ที่ระดับ +1.6% เทียบจากปีก่อน) และตลาดน้ำมันยังจะมีแรงหนุนของอุปสงค์น้ำมันจีนที่ฟื้นตัว รวมถึงอุปทานที่จะตึงตัวมากขึ้นจากนโยบายลดการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ส่วนปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบที่ต้องติดตาม อาทิ กลุ่ม OPEC+ จะสามารถลดอุปทานน้ำมันในตลาดได้ตามนโยบายการผลิตที่ประกาศออกมาหรือไม่ รวมถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค อาทิ สหรัฐ และยุโรปที่อาจจะชะลอตัว หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ส่งผลให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น