‘สำนักงบฯ’ ชี้เยียวยา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ต้องไม่สร้าง ‘ภาระการคลัง’ ในอนาคต

‘สำนักงบฯ’ ชี้เยียวยา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’  ต้องไม่สร้าง ‘ภาระการคลัง’ ในอนาคต

สำนักงบประมาณให้ความเห็นเยียวยาสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ชี้การตีความเหตุสุดวิสัยที่ให้เอกชนแก้ไขสัญญาไม่ควรเปิดช่องให้ตีความก้าวเกินไป และการเยียวยาเอกชนต้องไม่สร้างภาระทางการคลังให้ประเทศ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)  วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์สำคัญของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซี.พี.ปัจจุบันสถานะโครงการยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง และคาดว่าการเปิดดำเนินการจะล่าช้ากว่าแผนไปอย่างน้อย 1 ปี จากเดิมที่จะเปิดให้บริการในปี 2570 แต่ปัจจุบันการเปิดให้บริการคาดว่าจะสามารถเปิดได้ในปี 2571

ความล่าช้าของโครงการส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากการแพร่รระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ผลตอบแทนในโครงการลดลง ทำให้ภาครัฐและเอกชนในฐานะเป็นคู่สัญญาต้องมาหารือหาทางออกร่วมกัน ซึ่งปลายทางจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แล้วว่าจะต้องเพิ่มข้อความเรื่อง “เหตุสุดวิสัย” ไว้ในสัญญาร่วมทุนที่จะมีการปรับปรุงในรัฐบาลหน้า

"สำนักงบฯ"ชี้เยียวยาเอกชนต้องไม่สร้างภาระการคลัง

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นประกอบการรับทราบของ ครม.เกี่ยวกับการเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิ-19 โดยในส่วนของสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่าหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงิน ของโครงการฯ กรณีที่จะเสนอเพิ่มคำจำกัดความของ “เหตุสุดวิสัย” และ “เหตุผ่อนผัน”เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตด้วยกระบวนการการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ และเพื่อให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญานั้น คำจำกัดความของเหตุสุดวิสัย และเหตุผ่อนผันควรเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบในวงกว้าง เช่น การระบาดของโรคต่างๆ ภัยธรรมชาติ คำสั่งหรือกฎหมายที่เป็นเหตุให้โครงการฯ ต้องหยุดดำเนินการโดยตรงเท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ควรกำหนดคำนิยามในวงกว้างเพื่อป้องกันการตีความที่อาจจะเป็นการเอื้อแก่เอกชนมากเกินไป และเป็นภาระงบประมาณในอนาคตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ถือเป็นหลักการสำคัญ ต้องเสนอให้ครม.พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 นอกจากนี้ในกรณีที่มีการกำหนดวิธีการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ หากวิธีการนั้นส่งผลกระทบต่อขอบเขตของโครงการ จากที่ครม.มีมติอนุมัติไว้ เมื่อ กพอ. ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้ สกพอ. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญานั้นด้วย ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

ส่วนการรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ซึ่งหน่วยงานจะรายงานผลให้ครม.ทราบในหลักการนั้น ในทางปฏิบัติหากต้องมีการแก้ไขสัญญาหรือกำหนดมาตรการ วิธีการในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่ชัดเจน แล้วพบว่าก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคตหรือก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เห็นควรเสนอ ครม.พิจารณาตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

เยียวยาแอร์พอร์ตลิงก์ เอกชน แบ่งจ่าย 7 งวด 

ทั้งนี้ ครม.ได้มีการรับทราบการเยียวยาสัญญาให้กับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานรถไฟแอร์พอร์ต เรลล์ลิงก์ (ARL) ในช่วงสถานการณ์โควิด โดยมีการ แก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ จากเดิมที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ์ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท. ) ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ  เปลี่ยนเป็นเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 11,731.13  ล้านบาท

โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ  1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน  5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี 

ทั้งนี้ การแบ่งชำระ  7 งวดดังกล่าว มีความเหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับจำนวน 474.44 ล้านบาท ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์ โควิด-19 จำนวน 495.27 ล้านบาท โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และ/หรือ กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา 

ทั้งนี้เงื่อนไขหลังจากที่มีการปรับการชำระเงินแล้วทั้งสองฝ่ายตกลงว่ากรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯและกรณีเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้นได้  

 

เปิดช่องแก้เหตุที่กระทบกับสถานะการเงินโครงการ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง กพอ.ระบุว่าเนื่องจากสัญญาร่วมลงทุนฯ ยังไม่มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ส่งผลให้โครงการไม่มีความเหมาะสมทางการเงิน (Not Bankable)  แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันอันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น โรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตรายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน   

ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฯ  

และเพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันโดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะ ทางการเงินของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมโดย  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มีหน้าที่ ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best effort) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา เช่น การขยายระยะเวลาโครงการฯและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เอกชน ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการเงินของโครงการฯ ทั้งนี้ รฟท. ยังมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เดิมทุกประการ