‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญพัทยา 7.4 พันล้าน

‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญพัทยา 7.4 พันล้าน

“กรมเจ้าท่า” รับดีมานด์ท่องเที่ยวทางทะเล เตรียมเสนอ ครม.ปีนี้ เปิดพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่แห่งแรกในไทย ปักหมุดแหลมบาลีฮายพัทยา คาดใช้งบกว่า 7.4 พันล้านบาท ดึงเอกชนบริหาร 30 ปี จ่อเปิดบริการภายในปี 2572 มั่นใจสร้างผลตอบแทน 20% คืนทุนภายใน 10 ปี

นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า จากกระแสความนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนมากถึง 31.5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น36 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งสัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวยังพบว่าจุดหมายปลายทางยอดนิยมยังคงเป็นภูมิภาคเอเชียโดยไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ที่มีจำนวนการเดินทางเทียบท่าของเรือสำราญขนาดใหญ่ 

อย่างไรก็ดี กรมเจ้าท่าเล็งเห็นถึงโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวจากกระแสความนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ จึงเดินหน้าศึกษาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise) โดยเบื้องต้นจะพัฒนาในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี ซึ่งท่าเรือสำราญจะห่างออกจากชายฝั่งไปประมาณ 1 กิโลเมตร พร้อมรองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าพร้อมกัน 2 ลำ

“ช่วงที่ผ่านมาไทยรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่เฉลี่ย 500 เที่ยวต่อปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรือสำราญขนาด 9 เมตรบรรจุผู้โดยสารราว 1 พันคน ส่วนเรือสำราญที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นจะต้องใช้วิธีจอดเทียบท่าที่โป๊ะเรือชั่วคราว และนำเรือขนาดเล็กขนส่งผู้โดยสารเข้าฝั่ง ซึ่งไม่สะดวกต่อการเดินทาง”

‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญพัทยา 7.4 พันล้าน

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่เพื่อรองรับเรือสำราญทางการท่องเที่ยวแห่งแรกในไทย โดยปัจจุบันมีแผนพัฒนาในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ ซึ่งตามเป้าหมายแผนพัฒนาในพื้นที่เมืองพัทยาจะแล้วเสร็จภาย พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้ จะนับเป็นการผลักดันสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่รับการท่องเที่ยวแห่งแรกในไทย

นายวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยมีท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีศักยภาพรองรับเรือสำราญ แต่ท่าเรือดังกล่าวไม่ได้เป็นท่าเรือเพื่อรองรับทางการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าด้วย ดังนั้นจึงไม่สะดวกต่อการรองรับนักท่องเที่ยว ไม่มีบริการที่สนับสนุนนักท่องเที่ยว เช่น อาคารผู้โดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ดังนั้นหากกรมเจ้าท่าพัฒนาท่าเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ จะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการท่องเที่ยวทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น

‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญพัทยา 7.4 พันล้าน

สำหรับแผนดำเนินงานหลังจากศึกษาโครงการแล้วเสร็จ กรมเจ้าท่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.พิจารณาเห็นชอบโครงการภายในปี 2566 ก่อนนำกลับมาดำเนินการัดทำการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี ภายในปี 2567 และเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572 

ทั้งนี้โครงการท่าเรือสำราญ ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่งและบนชายฝั่ง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือและอาคารผู้โดยสาร, สะพานเชื่อมท่าเรือ, ลานจอดรถ, จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินถนนลอยฟ้าจำนวน 5,534 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66% ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ประกอบด้วย ระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ จำนวน 1,877 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34% 

นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ เมืองพัทยา มีผลตอบแทนทางการเงินคุ้มค่า โดยประเมินว่าในกรณีที่เอกชนติดตั้งอุปกรณ์และดำเนินงานบำรุงรักษาโครงการ เอกชนจะมีผลตอบแทน 20% และมีระยะเวลาคืนทุน 10 ปี ซึ่งกรมเจ้าท่าประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างแรงจูงใจในการลงทุนแก่เอกชน เบื้องต้นยังพบว่าเอกชนต่างชาติ กลุ่มดำเนินธุรกิจสายการเดินเรือ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว ทั้งจากฮ่องกง และสิงคโปร์แสดงความสนใจร่วมลงทุนจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการออกแบบท่าเรือสำราญเมืองพัทยา จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร และมีหลักผูกเรือบริเวณหัวและท้าย ท่าเทียบเรือ ทำให้มีความยาวหน้าท่ารวม 420 เมตร โดยประเมินว่าอาคารพักผู้โดยสาร ในกรณีที่เป็นท่าเรือต้นทาง(Home Port) จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และในกรณีที่เป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง 

อีกทั้งโครงการนี้จะมีการพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร อยุธยา สมุทรปราการ และบริเวณรอบเมืองพัทยา รวมทั้งมีการพัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆ

‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมพีพีพีสร้างท่าเรือสำราญพัทยา 7.4 พันล้าน