จะเอาแรงจากไหนมาช่วยพาเศรษฐกิจไปต่อกันยาวๆ

จะเอาแรงจากไหนมาช่วยพาเศรษฐกิจไปต่อกันยาวๆ

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงการนำพาเศรษฐกิจไปต่อกันแบบยาวๆ ไม่เพียงแค่หวังให้กราฟพุ่งประเดี๋ยวประด๋าว โดยชี้ให้เห็นว่า ‘การลงทุน’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก การลงทุนภาครัฐ มักจะถูกคาดหวังให้เป็นปัจจัยหลักในการชุบฟื้นเศรษฐกิจ

แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้า และหากพิจารณาค่าเฉลี่ยของการลงทุน 2 ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา จะพบว่าการลงทุนของภาครัฐต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นอยู่มาก

รายงานของธนาคารโลก Thailand Public Revenue and Spending Assessment ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อต้นเดือนมิ.ย.นี้ ระบุว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง และถือได้ว่ามีวินัยอยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า ยังมีสิ่งสะท้อนให้เห็นความน่ากังวลอยู่ นั่นคือการใช้จ่ายของภาครัฐในหลายช่วงจังหวะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายในยามที่เกิดวิกฤติรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ถือว่ายังขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่อีกหลายประการ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายโดยเฉพาะงบลงทุนซึ่งมีอยู่จำกัด ถูกเบียดบังไปกับรายจ่ายที่ไม่ช่วยในการพาเศรษฐกิจไทยไปต่อแบบยาวๆ แต่เราไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลพึงต้องทำคือการวางแผนบริหารจัดการให้มีการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น และนำไปใช้กับการลงทุนที่จะส่งผลตั้งต้นที่ดีต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของไทยนั้น จัดอยู่ในกลุ่มอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการสำหรับกิจการบางประเภท ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่สิ่งที่อาจต้องมาพิจารณากันใหม่คือ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นวิธีที่ได้ผลตามต้องการจริงหรือไม่ หรือที่จริงแล้วหากเราจัดเก็บภาษีอากรได้ครบถ้วนและมากขึ้น รัฐอาจจะสามารถใช้เงินงบประมาณในการดำเนินนโยบายหรือโครงการอื่น ที่ช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่าการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในส่วนของการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีอีกประเภทหนึ่งที่รายงานของธนาคารโลกกล่าวถึง ถึงแม้รายงานจะไม่ได้กล่าวในรายละเอียดมากนัก ผู้เขียนมีความเห็นว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำเป็นต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่อย่างจริงจังโดยเร็ว โครงสร้างของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือตัวอย่างของการลดภาระภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ตอบโจทย์หลักการความเป็นภาษีบนฐานของความมั่งคั่งแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในอนาคตมากขึ้นอีกด้วย

ในรายงานของธนาคารโลกมีแผนภูมิภาพหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่า ‘รายได้อื่นที่ไม่ใช่ภาษีอากร’ ของประเทศไทย อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงด้วยกัน  หากถามว่าภาครัฐไทยมีโอกาสที่จะบริหารการจัดเก็บรายได้อื่นให้เพิ่มขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นกระสุนในการลงทุน ที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยไปต่อแบบยาวๆ ได้ไหม ผู้เขียนเห็นว่ามีโอกาสอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐเพื่อก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น อาทิ การจัดหาประโยชน์จากที่ดินไม่ว่าจะเป็นที่ราชพัสดุหรือที่ดินของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ อย่างมีประสิทธิภาพและมีหลักการบนความเสมอภาค การนำผลตอบแทนไปใช้ในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม หรือการลงทุนบางอย่างของรัฐ ที่อาจจะใช้วิธีนำทรัพย์สินไปร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งจะได้ประสิทธิภาพและเทคโนโลยีจากภาคเอกชนมาสนับสนุน โดยรัฐจัดเก็บรายได้และผลประโยชน์จากการร่วมลงทุน วิธีนี้อาจจะดีกว่ารัฐทำเองแล้วขาดทุนหรือขาดประสิทธิภาพ ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการนำทรัพย์สินไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรายได้ คือความโปร่งใส และการบริหารจัดการและจัดสรรความเสี่ยงที่เหมาะสม ในหลายๆ ครั้ง จุดอ่อนของโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน คือ risk allocation ที่ไม่สมดุล

ผู้เขียนเชื่อว่าแรงในการพาเศรษฐกิจไทยไปต่อกันยาวๆ มีซุกซ่อนอยู่ในจุดต่างๆ เพียงรอเวลาที่จะถูกนำออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไปเท่านั้นเอง