ไทยแกร่ง ผิดนัดชำระ ต่ำ แม้ทั่วโลกเบี้ยวหนี้รวม 62 บริษัท สหรัฐ-แคนาดา แชมป์

ไทยแกร่ง ผิดนัดชำระ ต่ำ แม้ทั่วโลกเบี้ยวหนี้รวม 62 บริษัท สหรัฐ-แคนาดา แชมป์

Moody’s เผยตั้งแต่ต้นปี บริษัททั่วโลกผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 62 บริษัท ด้านสหรัฐ-แคนาดา ครองแชมป์ที่ 41 บริษัท ส่วน ThaiBMA เผยไทยผิดนัดชำระหนี้เพียง 3 บริษัท คือ ALL-CHO-STARK ด้าน Fitch Ratings ย้ำไทยยังแกร่ง

Key Points

  • Moody’s เผยตั้งแต่ต้นปี บริษัททั่วโลกผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว 62 บริษัท แบ่งเป็นในสหรัฐ-แคนาดา 41 บริษัท ยุโรป 11 บริษัท ลาตินอเมริกา 7 บริษัท และเอเชีย-แปซิฟิกอีก 2 บริษัท
  • สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยไทยผิดนัดชำระหนี้เพียง 3 บริษัทคือ ALL-CHO-STARK
  •  “นายเลิศชัย กอเจริญรัต” จากฟิทช์ เรทติ้งส์ เผย สถานการณ์ของไทยยังแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มการพัฒนาเดียวกัน

หากย้อนกลับไปในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ปริมาณบริษัททั่วโลกที่เผชิญกับภาวะ “ผิดนัดชำระหนี้” อยู่ในอัตราที่สูงที่สุดมากกว่าไตรมาสใดๆ ก็ตามตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งโลกเผชิญกับมหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Coivd-19)

จากรายงานของมูดี้ส์ (Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ฉบับเดือน มิ.ย. พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจำนวนของบริษัทผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกอยู่ที่ 62 บริษัท แบ่งเป็นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 41 บริษัท ยุโรป 11 บริษัท ลาตินอเมริกา 7 บริษัท และอีก 2 บริษัทในเอเชีย-แปซิฟิก

โดยรายงาน ระบุว่า บริษัททั้งหมด 33 บริษัทจากในจำนวนดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งในปีนั้นมีบริษัทเพียง 47 บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ โดยเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 15 บริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563

บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้แก่ ธนาคารบริษัทซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) ซึ่งปัดตัวลงในเดือนมี.ค. รวมทั้งบริษัทโอลดิ้งส์อย่าง เอสวีบี ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (SVB Financial Group) และธนาคารซิกเนเจอร์ (Signature Bank)

การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ปล่อยสินเชื่อทั้ง 2 รายเมื่อเดือนที่แล้วสร้างความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนและลูกค้าของธนาคารในภูมิภาคของสหรัฐ ทั้งยังทำให้ความเชื่อมั่นในวงกว้างของภาคการธนาคารทั่วโลกลดลง

“ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ในภาคการเงินเป็นสิ่งที่ต้องจับจา แต่การผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่ของเดือนที่แล้วยังคงไม่ใช่การผิดนัดชำระหนี้ของภาคการเงินมากเท่าไหร” มูดี้ส์ เผย โดยตั้งข้อสังเกตไปที่ บริษัทไดมอนด์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป (Diamond Sports Group) ผู้ออกอากาศกีฬาของสหรัฐ ว่า ผิดนักชำระหนี้ในปริมาณที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น

แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันผิดนัดชำระอื้อ

หากย้อนกลับไปในปีที่แล้ว หลายบริษัทกำลังได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและราคาพลังงานขาขึ้น สวนทางกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง

โดย มูดี้ส์ อินเวสเม้นท์ เซอร์วิซส์ (Moody’s Investors Services) คาดการณ์ว่าอาจมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้น 4.6% โดยเฉพาะที่มีความเสี่ยงสูง ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางในหลายประเทศมีท่าที ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงสุดไปอีกระยะหนึ่ง ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) โดยอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 2.9%

“จากนั้นอัตราการผิดนัดชำระหนี้จะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 5% ภายในสิ้นเดือนเม.ย. ปี 2567 จากนั้นจึงค่อยๆ ผ่อนคลายลงสู่ระดับ 4.9% ในเดือนพ.ค. ปีเดียวกัน”

โดยภาคส่วนที่ต้องจับตามากที่สุดคือ “อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์” หลังจากมูลค่าของอาคารสำนักงานในสหรัฐ และอีกหลายประเทศย่อตัวลงอย่างมากเมื่อปีที่แล้วจากพฤติกรรมการทำงานที่บ้าน (Work From Fome) และปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ จนนักวิเคราะห์จำนวนมากกังวลว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้เหลืออยู่แล้ว จนนำไปสู่การขาดทุนของบรรดาธนาคารพาณิชย์ต่อไป ซึ่งอาจกระทบจนล้มเป็น “โดมิโน” ในอีกหลายภาคส่วน

สถานการณ์ผิดนัดชำระในไทย 

ทั้งนี้ บริษัทที่มีอำนาจจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศไทยมี 2 บริษัทได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะที่มูดี้ส์ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการกระทำดังกล่าว

โดยหากอ้างอิงข้อมูลตาม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน มีการผิดนักชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหุ้นกู้ไปแล้ว 3 บริษัทได้แก่ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL, บมจ.ช ทวี หรือ CHO และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK

โดยนายเลิศชัย กอเจริญรัตผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) (Fitch Ratings) กล่าวเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ว่า บริษัทฯ ติดตามสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของไทยมาตั้งแต่ปี 2564 ท่ามกลางแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี  ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านสภาพคล่องสูง ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้แรงกดดันในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารบริษัทประเทศไทย (ธปท.) มีน้อยกว่าหลายประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง

รวมทั้ง หากย้อนกลับไปในปี 2565 วรัฐบาลไทยพยายามควบคุมต้นทุนด้านพลังงาน จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ด้วยกัน 

จากเหตุผลข้างต้นทำให้ปัญหาการรีไฟแนนซ์ หรือผลกระทบจากต้นทุนการเงินของไทยถือว่ามีผลกระทบ แต่ ‘ไม่มาก’ เท่าอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ถึงขนาดกลางที่อยู่ในการดูแลของฟิทช์

“สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้น่ากังวลน้อยกว่าช่วงโควิด เนื่องจากในช่วงดังกล่าวอุปสงค์ในทุกภาคส่วนอยู่ในระดับย่ำแย่ รวมทั้งสภาพคล่องในช่วงนั้นก็น้อยกว่าปัจจุบันอย่างมาก”

อ้างอิง

CNN Business