สรรพสามิตทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่เล็งใช้อัตราเดียว

สรรพสามิตทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่เล็งใช้อัตราเดียว

สรรพสามิตหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เล็งใช้อัตราเดียว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทุกมิติ ทั้งด้านการแข่งขันที่เป็นธรรม รายได้เข้ารัฐ และ การดูแลสุขภาพของประชาชน คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างทบทวนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ หลังจากที่ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวไปแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่า จะใช้เวลาในการพิจารณาราว 1-2 เดือน โดยจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม ประเด็นการทบทวนโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนี้  ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะไม่ต้องการให้มีการกักตุนบุหรี่ และเกิดปัญหาจนไม่สามารถปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ได้  

ทั้งนี้ การปรับปรุงครั้งนี้ ต้องการให้อัตราภาษีสะท้อนความเป็นจริงของพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะหากราคาบุหรี่แพงมากเกินไป ก็จะยิ่งทำให้มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งบุหรี่เถื่อนมีทั้งคุณภาพและไม่มีคุณภาพ ซึ่งหากบริโภคบุหรี่ที่ไม่มีคุณภาพหรือบุหรี่ปลอม ก็อาจเป็นอัตราต่อสุขภาพผู้บริโภคที่สูบบุหรี่ได้

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปัจจุบันมีการจัดเก็บ 2 อัตรา กล่าวคือ กรณีคิดจากมูลค่า บุหรี่ขายปลีกราคาไม่เกินซองละ 72 บาท เสียภาษีเพิ่มเป็น 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินซอง 72 บาท จะเสียภาษี  42% และคิดจากปริมาณจัดเก็บที่ 1.25 บาทต่อมวน หรือซองละ 25 บาท ซึ่งจัดเก็บมาตั้งแต่ 1 ต.ค.64

อย่างไรก็ดี ในระยะแรกที่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ได้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ใน 2 อัตรา กล่าวคือ จัดเก็บตามมูลค่า กรณีราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อซองจะจัดเก็บที่ 20%ของราคาขายปลีก ถ้าราคาเกินกว่า60 บาทจะจัดเก็บในอัตรา 40%ของราคาขายปลีก ส่วนการจัดเก็บตามปริมาณจะอยู่ที่ 1.2 บาทต่อมวนหรือ ซองละ 24 บาท

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษีในรูปแบบดังกล่าว มีการมองว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์การปรับโครงสร้างภาษีในช่วงที่ผ่านมาได้ ทั้งในแง่รายได้ที่จัดเก็บที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากรายได้ของการยาสูบแห่งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างภาษีดังกล่าว ขณะที่ จำนวนผู้สูบก็ไม่ได้ลดลงตามที่ควรจะเป็น และ การลักลอบการนำเข้าบุหรี่เถื่อนก็มีมากขึ้น

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและการยาสูบแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาทบทวนโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในระยะปานกลางถึงระยะยาว เพื่อนำไปสู่โครงสร้างภาษีแบบอัตราเดียวในอนาคตที่เป็นธรรมและคำนึงถึงการแข่งขันในตลาด รวมทั้ง การดูแลสุขภาพของประชาชน ตลอดจนกำหนดมาตรการควบคุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่โดยผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน และให้การยาสูบแห่งประเทศไทยรับผิดชอบดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเปลี่ยนมาปลูกพืชทดแทน เพื่อลดพื้นที่การเพาะปลูกยาสูบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เผยแพร่บทวิจัยโครงการวิจัยศึกษาเพิ่มพัฒนาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เหมาะประเทศไทยโดยสามารถสรุปข้อเสนอได้ดังนี้  1.ควรทำระบบภาษีด้านมูลค่าให้เป็นอัตราเดียว ในช่วง 24.5-30.5% 2.ปรับกลไกภาษีด้านปริมาณ เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 3.คำนึงถึง รายได้รัฐบาล รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ลดแรงจูงใจให้ประชาชนสูบเพิ่มขึ้น ป้องกันบุหรี่เถื่อน และปรับกลยุทธ์การผลิตของผู้ประกอบการผลิตยาสูบในประเทศ 4.ให้การยาสูบแห่งประเทศไทย พึ่งพากลยุทธ์ทางการตลาดและพัฒนาสินค้ายาสูบ แทนการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและภาษี

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่นับตั้งแต่ปี2560 ที่ผ่านมา ทำให้รายได้และกำไร ของยสท.ลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2560 รายได้ 68,175 ล้านบาท กำไร 9,343 ล้านบาทปี 2561 รายได้51,566 ล้านบาท กำไร 843 ล้านบาทปี 2562 รายได้ 50,292 ล้านบาท กำไร 513 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 45,462 ล้านบาท กำไร 550 ล้านบาท และปี2564  รายได้  ล้านบาท กำไร 900 ล้านบาท ส่วนปี2565 รายได้ ล้านบาท คาดมีกำไร 100 ล้านบาท 

นายธีรัชย์  อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)เผยว่า ยสท.อยู่ระหว่างการหารือกรมสรรพสามิตเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ทั้งระบบ ซึ่งต้องพิจารณาในทุกมิติ ทั้งการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ สุขภาพของประชาชน และหากราคาบุหรี่แพงมาก บุหรี่เถื่อนก็ทะลักเข้ามา รวมถึง ต้องประเมินว่าที่ผ่านมามีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากขึ้นหรือลดลง และต้องพิจารณาพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ซึ่งยสท.และกรมสรรพาสมิต จะต้องทำงานร่วมกันกับเรื่องการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เพื่อให้เป็นอัตราที่เหมาะสมต่อทุกฝ่าย