คลังแนะ 3 แนวทางสร้างความเห็นร่วมปฏิรูปโครงสร้างภาษี

คลังแนะ 3 แนวทางสร้างความเห็นร่วมปฏิรูปโครงสร้างภาษี

คลังชี้ปฏิรูปโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องยาก เผยเวิลด์แบงก์เคยเสนอแนวปฏิรูปภาษีเพื่อสร้างรายได้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว แนะ 3 แนวทางสร้างความเห็นร่วมปฏิรูปโครงสร้างภาษี หนึ่งฟังเสียงประชาชน สองสร้างความยุติธรรมเสียภาษี และสามนำภาษีที่ปรับขึ้นไปใช้ในโครงการเฉพาะ

ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังกล่าวระหว่างงานสัมมนาประจำปีของธนาคารโลกในหัวข้อ THAILAND PUBLIC REVENUE AND SPENDING ASSESSMENT โดยระบุว่า เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้นั้น เป็นข้อเสนอที่ธนาคารโลกได้เสนอมาตั้งแต่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่า การปฏิรูปภาษีก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก และมีความเห็นที่หลากหลายสำหรับประเทศไทย

“อันดับแรก การปฏิรูปภาษีเป็นเรื่องที่ยาก และมีความเห็นที่หลากหลายมาก ถ้าย้อนไปดูเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เวิลด์แบงก์ทำรายงานต่อกระทรวงการคลัง โดยมีข้อเสนอให้ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปอัตราเดิมที่ 10% พร้อมกับทบทวนรายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยอมรับว่า วันนี้ ข้อเสนอก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งมีความยากในการเปลี่ยนแปลง”

เขากล่าวว่า หากจะถามว่า จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภาษีได้อย่างไร ตนเห็นว่า มี 3 แนวทางที่พอจะทำได้ อันดับแรก ต้องฟังเสียงประชาชน สองต้องสร้างขวัญกำลังใจในการเสียภาษี หรือสร้างความยุติธรรมในการเก็บภาษี และ สาม ทำนโยบายภาษีในลักษณะ Earmarked หรือการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อสร้างความยอมรับจากประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับอันดับแรก คือ การฟังเสียงประชาชน โดยเรื่องของภาษี เราจะทำได้ ต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ยกตัวอย่าง มีสโลแกนเมื่อ 300 ปีที่แล้วของประเทศอังกฤษสมัยล่าอาณานิคม ผู้ที่ถูกล่าอาณานิคมเขาบอกว่า เขาไม่ยอมเสียภาษีหรอก ถ้าไม่มีผู้แทนในสภาฯ ก่อน สิ่งนี้ก็คล้ายๆ กัน ถ้าเราจะสร้างให้เกิดการยอมรับ ก็ต้องฟังเสียงประชาชน

“เรื่องภาษี เป็นเรื่องที่ Sensitive มาก ยกตัวอย่าง ไม่ต่างอะไรกับความยุติธรรม เราเดินไปถามคน 100 คน มีความเห็นไม่ตรงกันเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราจะสร้างให้เกิดความเห็นชอบร่วมกัน ก็จะต้องให้โอกาสแสดงความเห็น สมมติวันนี้ เราอยากได้รัฐสวัสดิการ บางคนก็อยากเป็น บางคนอยากเห็นภาครัฐบาลเล็กๆ บางคนอยากเห็นภาครัฐบาลใหญ่ๆ สมมติว่า เราอยากไปรัฐสวัสดิการแบบสุดโต่งเลย สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เราเดินไปประเทศเหล่านี้ มีฟินแลนด์ประเทศเดียวที่เก็บแวต 24% ส่วน 3 ประเทศที่เหลือเก็บ 25% ฉะนั้น ฉันทามติคนในสังคมไป ก็ไปได้ คิดว่า ต้องทำให้คนยอมรับร่วมกัน”

เรื่องที่สอง เราต้องเคารพผู้เสียภาษี ทำอย่างไรให้คนยินยอม มีงานวิจัยว่า ถ้าคนเชื่อว่า ภาษียุติธรรม การหนีภาษีจะน้อยลง สิ่งนี้ จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า รัฐบาลต้องใช้จ่ายให้ประชาชนรู้สึกดี การรั่วไหลน้อย ลดรายจ่ายไม่จำเป็น และคิดว่า ต้องทำให้เขามีความเห็นร่วมกัน

เรื่องที่สาม Earmarked  ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว กระทรวงการคลังมักไม่ชอบให้ทำนโยบายลักษณะนี้เท่าไร แต่ถ้าเราอยากได้ความยอมรับจากประชาชน เราก็อาจจะต้องทำลักษณะนี้ ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีแวต 2 ครั้ง รัฐบาลเขาประกาศชัดเจนว่า เม็ดเงินครึ่งหนึ่งของภาษีที่ปรับขึ้นมานั้น จะนำไปใช้เรื่องคนแก่กับเด็ก และที่เหลือใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนที่บอกกับประชาชน ตนคิดว่า เหล่านี้ น่าจะเป็นกลยุทธ์สร้างความยอมรับร่วมกันคนในสังคมในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์