'กมธ.พลังงาน' หนุนถก 'พื้นที่ทับซ้อน' หวัง ไทย-กัมพูชา แบ่งขุมทรัพย์ลงตัว

'กมธ.พลังงาน' หนุนถก 'พื้นที่ทับซ้อน' หวัง ไทย-กัมพูชา แบ่งขุมทรัพย์ลงตัว

"กมธ.พลังงาน" หนุนรับบาลเจรจา "พื้นที่ทับซ้อน" หวัง ไทย-กัมพูชา แบ่งขุมทรัพย์ปิโตรเลียมลงตัว เสริมความมั่นคงด้านพลังงานไทย นำประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065 

นายเจน นำชัยศิริ โฆษกคณะกรรมการธิการการพลังงาน และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง “ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ตอบโจทย์สภาวะโลกร้อน ?” จัดโดย คณะกรรมาธิการ การพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงหลากหลายชนิดเพื่อการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และการขนส่งมากขึ้น การเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป จาก fossil fuel น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน จึงมีการพัฒนานำพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน ใช้แล้วนำกลับมาใช้ได้อีก และรวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน และเอทานอล จากมันสำปะหลัง พืชเกษตร

 

นอกจากนี้ ด้วยบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกวัน ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมแก้ไขสภาวะแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต จึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกันเพื่อการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกต้องเตรียมการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหรือที่เรียกว่า Energy Transition ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกได้ให้ความสนใจในเรื่องพลังงานไฮโดรเจนอย่างมาก ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนถือว่าเป็นพลังงานสะอาด เนื่องจากในการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนนั้นมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยมากจนถึงไม่มีมลภาวะเลย ซึ่งหลายประเทศมีการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานไฮโดรเจน เพื่อเตรียมความพร้อม และบางประเทศยังได้รวมแผนดังกล่าวไว้ในแผนพลังงานชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันนอกจากที่จะใช้งานในโรงกลั่นและเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแล้ว ไฮโดรเจนยังสามารถเข้ามาทดแทน fossil fuel ในภาคความร้อน ภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคขนส่งได้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาครัฐกำหนดให้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน เชื่อว่าประเทศไทยมีความพร้อมปรับตัว ยกตัวอย่าง เครื่องปั่นไฟโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสามารถเติมไฮโดรเจนอย่างน้อย 20% ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสารเคมี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเอามาจากไหน ประเทศโชคดีที่ก๊าซในอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียก สิ่งที่อยู่ข้างในคือ C2 พลัส ถือเป็นบายโปรดักส์ที่มีความพร้อมที่จะนำมาใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ หากนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งโดยเฉพาะรถบรรทุก รถเมล์ ที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางไกล จะมีความเเหมาะสมมาก ดังนั้น จึงมองว่า อีกภาคขนส่งอย่างรถไฟก็จะเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งรถไฟใช้เครื่องดีเซลปั่นไฟ แล้วนำไฟฟ้ามาปั่นมอเตอร์ และหากนึกถึงหัวรถจักรที่จะใส่แบตเตอรี่ สามารถนำแบตเตอรี่ออกออกแล้วนำเอาฟิลเซลใส่เข้าไปแทน สายส่งไฟฟ้าก็ไม่ต้องมี จึงมองว่าหากโครงการนำร่องเกิดในรถไฟก็น่าจะดี ซึ่งจากข้อมูลพบว่า หากเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงดีเซลมาไฮโดรเจนถือว่าถูกกว่า

“มองว่า หากรัฐบาลไทยสามารถเจรจาพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) สำเร็จ จะส่งผลให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คุณภาพที่ดีเหมือนกับอ่าวไทย จะช่วยเพิ่มปริมาณมาใช้กระบวนการมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันมีปริมาณ 100 ตันต่อวันก็ไม่น้อย เพียงพอต่อโครงการนำร่อง แต่ก็ต้องเตรียมแผนรอบรับการใช้งานอนาคตด้วยเช่นกัน”