เศรษฐกิจโตช้า ประชาหนี้ท่วม ฝากการบ้านนายกฯ ดึงลงทุน

เศรษฐกิจโตช้า ประชาหนี้ท่วม ฝากการบ้านนายกฯ ดึงลงทุน

แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นขึ้นมาบ้างแต่ยังไม่เต็มที่เหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด และการท่องเที่ยวแม้จะมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยแต่หากเทียบสัดส่วนไม่ถึง 20% แสดงว่า ต้องมีภาคส่วนอื่นๆ มาช่วยด้วย จะหวังการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ 

ยังหายใจไม่ทั่วท้องกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไทย ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีกำหนดแถลงตัวเลขไตรมาส 1 ในวันจันทร์ (20 พ.ค.) พร้อมคาดการณ์แนวโน้มตลอดปี 2567 ดูท่าแล้วน่าจะไม่สวยนักเพราะเจอปัจจัยลบหลายอย่าง ปัญหาใหญ่ที่นอกเหนือการควบคุม คือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อการส่งออกไทยต่อเนื่องไปถึงการผลิต ปี 2566 จีดีพีไทยขยายตัว 1.9% คาดการณ์ครั้งก่อนของ สศช. จึงคาดการณ์การเติบโตของปี 2567 ไว้ที่ 2.2 - 3.2%

ตัวเลขจริงจะเป็นอย่างไรเห็นทีต้องรอวันจันทร์ เบื้องต้นยังไม่เห็นสัญญาณดี ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานเศรษฐกิจได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2567 ลง เช่น สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดจีดีพีลงเหลือ 2.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.8% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มาที่ 2.2-2.7% ในการแถลงครั้งล่าสุด อย่างที่กล่าวไว้ว่า ส่งออกลด การผลิตลด แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นขึ้นมาบ้างแต่ยังไม่เต็มที่เหมือนก่อนโควิด-19 ระบาด และการท่องเที่ยวแม้จะมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยแต่หากเทียบสัดส่วนไม่ถึง 20% แสดงว่าต้องมีภาคส่วนอื่นๆ มาช่วยด้วย จะหวังการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ 

อีกหนึ่งสัญญาณที่น่าห่วง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เผยข้อมูลสินเชื่อบ้านในไตรมาสแรกที่ค่อนข้างน่าห่วง หนี้เสียครัวเรือนไทยทั้งหมดที่ 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียจากบ้านคิดเป็นสัดส่วน 20% ของพอร์ตรวม สูงขึ้นถึง 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หนี้อีกประเภทที่ต้องจับตาคือ หนี้ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90% (SM) ที่ไตรมาสนี้ มียอดค้างชำระ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน เกินกว่าครึ่งเป็นหนี้ค้างชำระจากลูกหนี้ “แบงก์รัฐ” ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ต่ำ มีความสามารถซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มฐานราก 

“เศรษฐกิจโตช้า ประชาหนี้ท่วม” เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ขณะนี้กำลังนำคณะเดินสายปฏิบัติภารกิจในประเทศยุโรปและเอเชียร่วม 10 วัน เริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศส อิตาลี ปิดท้ายด้วยเวที Nikkei Forum Future of Asia ที่ญี่ปุ่น วันก่อนนายกฯ พูดในงาน SUBCON Thailand 2024

ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของโลก ตามวิสัยทัศน์ “IGNITE Thailand” ของรัฐบาล ที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปเป็นที่หนึ่งของภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในเมื่อเป้าหมายชัดเจน ไปต่างประเทศรอบนี้ก็ขอให้นายกฯ “ขายของ” ให้เต็มที่ ดึงการลงทุนกลับมาให้ได้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจแย่เต็มที