35 ปี“ไทย-กัมพูชา”ติดหล่มการเมือง ปิดประตู“ขุมทรัพย์”พื้นที่ทับซ้อน

35 ปี“ไทย-กัมพูชา”ติดหล่มการเมือง ปิดประตู“ขุมทรัพย์”พื้นที่ทับซ้อน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลา 2 เดือนเศษก่อนจะครบวาระ 4 ปี การขับเคลื่อนการเจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย- กัมพูชา จะถูกส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่

หลังจาก “ไทย-มาเลเซีย” ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2522 ในการจัดการเขตทับซ้อนทางทะเล โดยการทำเป็นเขตพัฒนาร่วม หรือ Malaysia-Thailand Joint Development Area : JDA เพื่อแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเป็นเวลา 50 ปี โดยพักเรื่องอาณาเขตเอาไว้ก่อน

นับจากนั้นมา จึงเป็นความพยายามต่อเนื่องของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ในการผลักดันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้เป็นเขตพัฒนาร่วมระหว่าง “ไทย-กัมพูชา” หลังค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล

เริ่มจากยุค “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2531 แต่ไม่ประสบความสำเร็จติดปัญหาการเมืองกัมพูชา

ทว่า หลังสิ้นสุดปัญหาในกัมพูชาแล้ว ก็เกิดรัฐประหาร รสช.ในประเทศไทย จนกลายเป็นปัญหาการเมืองลากยาวอยู่หลายปี 

จนเข้าสู่รัฐบาลชวน หลีกภัย มีการเปิดเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ปี 2537-2538 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

จนกระทั่ง ชวน หลีกภัย ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง โดยในปี 2543 ได้ส่ง พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฎ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ไปหารือนอกรอบกับกัมพูชา เรื่องเขตทับซ้อนทางทะเล จนนำไปสู่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จ.เพชรบุรี แต่ทุกอย่างก็หยุดชะงักเพราะรัฐบาลไทยยุบสภาไปเสียก่อน

การเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่มาบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนซ้อนกัน พ.ศ.2544 หรือ เอ็มโอยู 2544

จนเป็นที่มา ข้อถกเถียงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ทั้งการใช้สูตร 50:50 กรณีทรัพยากรอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ประเทศ แต่หากกรณีอยู่ใกล้ชิดฝั่งหนึ่งฝั่งใดมากกว่าใช้สูตร เช่น 60:40 ลดหลั่นกันไป ก่อนเกิดรัฐประหารในไทยอีกครั้งปี 2549 ทุกอย่างก็หยุดชะงักลงอีกครั้ง

สถานการณ์เข้าสู่ช่วงวิกฤติ หลัง ไทย-กัมพูชาเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ในขณะนั้นพยายามเดินสายไกล่เกลี่ยอยู่หลายรอบแต่ก็ไม่เป็นผล

จนเป็นที่มาประกาศยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตอบโต้ รัฐบาลกัมพูชา ที่แต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา พร้อมเชิญมาเยือนและปฏิเสธคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทย

เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ดีขึ้นตามลำดับ และเตรียมปัดฝุ่นเอ็มโอยู 2544 ด้วยการเปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใหม่ หวังเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต แต่ด้วยปัญหาการเมืองในขณะนั้น ทำให้เรื่องดังกล่าวไปไม่ถึงไหน ก่อนเกิดรัฐประหาร 2557

ยุครัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมายมั่นปั้นมือจัดการเรื่องเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้จบในช่วงนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมอบหมาย พล.อ.ประวิตร เดินหน้าสานต่อการเจรจามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ผ่านกลไกหลายระดับทั้งในส่วนของรัฐบาลและกองทัพจนทำให้เรื่องดังกล่าวรุดหน้า

จนเป็นที่มาการประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาวาระลับเมื่อ 3 ม.ค.2566 โดย พล.อ.ประวิตร นำวาระการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เข้ามาหารือ

พร้อมรายงาน ครม.ทราบว่า ในเดือน ธ.ค.2565 ได้หารือกับ นายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เรื่องความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและแก๊สในพื้นที่บริเวณพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งทางกัมพูชายินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยโดยใช้โครงสร้างของ คณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย -กัมพูชาเพื่อสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป

 “ในการหารือกับทางกัมพูชาทางฝ่ายไทยได้หยิบยกความจำเป็นในเรื่องการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นด้านพลังงานที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น และต้องพึ่งพาต่างประเทศมาก หากสามารถพัฒนาพื้นที่นี้ได้จะสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานของตัวเอง และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก ส่วนทางกัมพูชาก็ยินดีที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่นี้ แต่ขอให้ทำข้อตกลง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน” แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาลระบุ

ทั้งนี้ ครม.ได้หารือกันต่อถึงโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมาเดินหน้าโครงการในพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ร่วมของทั้งสองประเทศ

โดยมีการเจรจาเบื้องต้นไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ขณะที่ แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุว่า จะไม่มีการพูดถึงเงื่อนไขเรื่องเขตแดน เพราะถ้าคุยเรื่องเขตแดนจะทะเลาะกัน เพราะเรื่องเขตแดนยังทับซ้อนและยังตกลงกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดวิกฤตพลังงานจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอีกหลายปัจจัย ทำให้ต้องดึงเอาพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช่ร่วมกัน โดยที่ประชนทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่

1. รัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน และต้องประกาศใช้ประชาชนเข้าใจ ไม่ขัดแย้งกันเอง

2.ต้องให้สภาฯให้ความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ

3. ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

4.ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น แบ่งกันคนละครึ่ง

“อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคุยกันไว้ในเรื่องพลังงาน เปรียบเหมือนมีเงินในกระเป๋า แต่ไม่สามารถเอาออกมาใช้ได้ อันนี้ถือว่าไม่ใช่ความสามารถของรัฐบาล ดังนั้นความสามารถของรัฐบาลก็คือมีเงินอยู่ในกระเป๋า แล้วเอาออกมาใช้ได้ เพราะฉะนั้นข้อตกลงที่เราคุย จากนี้ไปก็จะมีการประชุมหารือตั้งคณะทำงานร่วมกัน หลังเอามาเข้าประชุมวงเล็กในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 ม.ค.” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ระบุ

จะเห็นว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาคืบหน้า ส่วนหนึ่งมาจากความต่อเนื่องการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงช่วงปลายเทอมรัฐบาลปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสองประเทศในระดับต่างๆ อุดช่องว่างในอดีต

แน่นอนว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลา 2 เดือนเศษก่อนจะครบวาระ 4 ปี การขับเคลื่อนการเจรจาพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย- กัมพูชา จะถูกส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ 

หากขั้วอำนาจเปลี่ยนมือ อาจประสบปัญหาไม่ต่างกับในอดีต แต่หากเป็นขั้วเดิมการเดินหน้าอย่างไร้รอยต่อ จะทำให้การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ประสบความสำเร็จไม่ต่างกับไทย-มาเลเซีย