'ทีพีไอพีพี' ชูแผนลดต้นทุน ดันรายได้รับแอดเดอร์หมดอายุ   

'ทีพีไอพีพี' ชูแผนลดต้นทุน ดันรายได้รับแอดเดอร์หมดอายุ   

"ทีพีไอพีพี" ย้ำ แม้แอดเดอร์จะใกล้หมดอายุ ไม่กระทบรายได้บริษัทแน่นอน ระบุบริหารจัดการต้นทุนได้ดี ตั้งเป้า ปี 2569 โรงไฟฟ้าทั้ง 8 โรงไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวทั้งหมดกำลังผลิตกว่า 500 เมกะวัตต์  

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP กล่าวในเวทีสัมมนา Investment Forum : New Chapter, New Opportunity หัวข้อ "ล้วงลึก หุ้นมหาชน แผนธุรกิจรับบริบทใหม่ประเทศไทย" จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บริษัทถือเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าจากขยะขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย และอาเซียน และถือว่าเป็นโรงงานรับกำจัดขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม บริษัทมี 2 ธุรกิจหลัก คือ โรงไฟฟ้า และสถานีบริการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  มีโรงไฟฟ้ารวมทั้งหมด 8 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 7 ไม่ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทแม่ ซึ่งเป็นโรงงานปูนอยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้า ขณะที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 8 มีการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.5 ล้านตัน  

\'ทีพีไอพีพี\' ชูแผนลดต้นทุน ดันรายได้รับแอดเดอร์หมดอายุ   

ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 โรงไฟฟ้าแห่งที่ 6 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะที่ใช้พลังงานทดแทนถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานฟอสซิล เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ทั้ง 4 โรงไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 7.5 ล้านตัน หากมีการปล่อยทิ้งขยะไปเฉยๆ จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน น่ากลัวกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ซึ่งการใช้ขยะจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันแน่นอนว่าเมกะเทรนด์คือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทจึงต้องเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดเป็นโรงไฟฟ้าขยะ โดยแบ่งเป็น 6 เฟส เสร็จแล้ว 2 เฟส เฟส 3-6 เสร็จกลางปี 2568 และปี 2569 บริษัทจะมีโรงไฟฟ้า 8 โรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดทั้งหมด 582 เมกะวัตต์  

"การแบ่งขายไฟฟ้าให้บริษัทแม่ เป็นราคาเดียวที่บริษัทแม่ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกส่วนเราขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเมื่อค่าไฟฟ้าผันแปรช่วงปีที่ผ่านมาปรับขึ้น เราได้รับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ถือว่าได้ฟรีจากรัฐบาล เพราะเราใช้ขยะ แม้ว่าเราจะมีแอดเดอร์ที่ใกล้จะหมดสัญญาอาจจะกระทบกับรายได้เรา แต่เราจะบริการจัดการต้นทุนเพื่อให้รายได้คงที่หรือมากกว่าเดิมแน่นอน

\'ทีพีไอพีพี\' ชูแผนลดต้นทุน ดันรายได้รับแอดเดอร์หมดอายุ   

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทรับขยะเฉลี่ย 8,500 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 2.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 5.8 ล้านตันต่อปี  นโยบาย Net Zero ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าจะลดคาร์บอนได้ปีละ 115 ล้านตันนั้น และบริษัท คาดว่าจะขยายการรับขยะเฉลี่ยต่อวันเพิ่มเป็น 17,000 ตันต่อวันในปี 2569 ซึ่งบริษัทไม่เหลือปริมาณคาร์บอนเลย และยังลดการเกิดก๊าซมีเทน สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 7.5 ล้านตันต่อปี และมองว่าปี 2569 ทั้งปีจะลดคาร์บอนได้ถึง 12 ล้านตันต่อปี

"ปัจจุบันพบว่าแถบทวีปยุโรปมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 90 ยูโรต่อตันคาร์บอน ส่วนจีนมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 7 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ซึ่งไม่ใช่ตลาดที่แปลกใหม่ เพราะประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้วก็ดำเนินการเช่นกัน เพราะฉะนั้นไทยก็ควรมี และไม่ควรรอช้า"

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์