ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ม็อบประท้วง ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย

ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ม็อบประท้วง ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย

กกร.เผยเศรษฐกิจโลกแผ่ว กดดันส่งออกไทยหดตัว ชี้ 19 อุตสาหกรรมส่งออกต้องผลิตเพื่อพยุงจ้างงาน ระบุท่องเที่ยวและลงทุนเป็นเครื่องยนต์หลัก ต้องเร่งอุดปัจจัยเสี่ยง เงินเฟ้อ ภัยแล้ง ขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม

หวังตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่นตามไทม์ไลน์ ห่วงล่าช้าและมีประท้วงจะฉุดจีดีพี “โออีซีดี” เพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ จากเงินเฟ้ออ่อนตัว จีนยกเลิกคุมโควิด 

เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน หลังจากที่ภาคการส่งออกสินค้าของไทยติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 และจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ซึ่งหลายฝ่ายกังวลถึงความสำเร็จในการตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาคุณสมบัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ประเด็นการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าจะมีผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด เพราะเศรษฐกิจโลกไตรมาสที่ 2 ส่งสัญญานแผ่วลง เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังการเปิดประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งการฟื้นตัวภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง ส่วนภาคการผลิตยังไม่ฟื้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อระดับสูง 

“การฟื้นตัวช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ภาวะชะลอตัวจนกว่าประเทศใหญ่ๆ จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา”

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงรายได้ภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังต้องรักษาการผลิตเพื่อพยุงการจ้างงาน

ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ม็อบประท้วง ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย “ทั้งนี้ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”

คาด ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เงินเฟ้อ ยังเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ระดับสูง และเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่กระทบผลผลิตเกษตร การผลิตภาคอุตสาหกรรมหนัก ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าระยะข้างหน้า ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กกร.ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ 31 พ.ค.2566 เสนอให้เร่งทำมาตรการรับมือภัยแล้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวและมองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ก้าวไกลขึ้นค่าแรงดันเงินเฟ้อ 0.82%

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงในอนาคตตามนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับขึ้นค่าแรง

รวมทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงวันที่20 ก.ค.2566 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจซ้ำเติมต้นทุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs 

“ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน ดังนั้นมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง” 

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ตามเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจประเทศ จะขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกหดตัว 1.0-0.0%  และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7-3.2% ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ม็อบประท้วง ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย

ตั้งรัฐบาลยืดเยื้อฉุดจีดีพี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลนักท่องเที่ยวให้สะดวก ปลอดภัย สร้างแรงจูงใจดึงดูดให้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ปัญหาคอขวดการเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้กับสายการบินของไทยยังเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งยังต้องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ 

นอกจากนี้ไทยมีโอกาสดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงาน จากอานิสงส์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ย้ายฐานการผลิต ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปกฏหมายเพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เช่น การปรับปรุงการขอวีซ่าให้สะดวกขึ้น รวมถึงความต่อเนื่องของการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU)

“ตอนนี้ไทยเป็นเป้าหมายและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก  ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม”

ขณะที่ในทางตรงกันข้าม หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า มีการประท้วงและการเมืองขาดเสถียรภาพไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ในเดือน ส.ค. อาจทำให้ต่างชาติตัดสินใจไม่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงปลายปี กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้นให้จีดีพีปรับลดลงมาที่ 2.0-2.5% รวมทั้งยังมีผลกระทบระยะยาวคือ ต่างชาติเปลี่ยนใจไม่ลงทุนในไทยแต่หันไปหาคู่แข่งในภูมิภาคนี้แทน”

“โออีซีดี” ชี้เศรษฐกิจโลกถึงจุดเปลี่ยน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) แถลงเมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.) ตามเวลากรุงปารีส คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในรายงานฉบับเดือน มี.ค.จากการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ จีน และยูโรโซน แต่ยังต่ำกว่า 3.3% ที่เคยเติบโตในปี 2565

นางสาวแคลร์ ลอมบาร์เดลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดี ระบุไว้ในรายงาน “เศรษฐกิจโลกกำลังถึงจุดเปลี่ยน แต่ยังอีกนานกว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน การฟื้นตัวจะอ่อนแอถ้าเทียบกับมาตรฐานในอดีต” รวมทั้งโออีซีดีคงคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ที่ 2.9%

โออีซีดี รายงานว่า ราคาพลังงานลดลง คอขวดซัพพลายเชนคลายตัว และจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาดล้วนมีส่วนให้เศรษฐกิจฟื้น แต่เงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมราคาอาหารและพลังงานสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อาจบีบให้ธนาคารกลางที่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเพื่อรับมือเงินเฟ้อ ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก จนกว่ามีสัญญาณชัดเจนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเบาบางลง

พร้อมกันนั้นโออีซีดีเตือนว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั่วโลก “กำลังรู้สึกได้มากขึ้น” เห็นชัดในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเงินเมื่อนักลงทุนเริ่มประเมินความเสี่ยงอีกครั้งและเงื่อนไขปล่อยกู้ตึงตัว

ห่วงหนี้สาธารณะพุ่ง

อีกหนึ่งประเด็นที่โออีซีดีเตือนคือ เกือบทุกประเทศใช้งบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะเพิ่มสูงมากกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด เพราะต้องเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิดและสงครามของรัสเซียในยูเครน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มไปต่อได้ก็ควรลดการสนับสนุนทางการคลังลงและตั้งเป้าให้ดีขึ้น

พร้อมกันนั้นโออีซีดีปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ปีนี้ขยายตัว 1.6% จีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขยายตัว 5.4% ส่วนยูโรโซนขยายตัว 0.9% อังกฤษหลุดจากภาวะถดถอยมาโตที่ 0.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม โออีซีดีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโต 0% ลดคาดการณ์จีดีพีญี่ปุ่นลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ขยายตัว1.3%

 เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโต 2.1% ปีนี้

ธนาคารโลกหั่นเป้าปี 67

ธนาคารโลก ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 2.1% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค.ที่ระดับ 1.7% แต่ต่ำกว่าการขยายตัวในปี 2565 ที่ระดับ 3.1%

นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 สู่ระดับ 2.4% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค.ที่ระดับ 2.7%

ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด และวิกฤตการในภาคธนาคาร

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในปีนี้ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค.ที่ระดับ0.5% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.6% ในปีนี้ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 4.3%

ส่วนในปี 2567 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 0.8% ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.6%