กกร. ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตแผ่ว หากประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ขยับ

กกร. ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตแผ่ว หากประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ขยับ

กกร.เผยเศรษฐกิจโลกแผ่ว กดดันภาคส่งออกไทยหดตัว ชี้ 19 อุตสาหกรรมส่งออกต้องผลิตเพื่อพยุงการจ้างงาน ระบุภาคท่องเที่ยวและลงทุนเป็นเครื่องยนต์หลักต้องเร่งอุดปัจจัยเสี่ยง ให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ราบรื่นตามไทม์ไลน์

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งสัญญานแผ่วลง เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังการเปิดประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทั้งการฟื้นตัวภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง ส่วนภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง 

“การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จนกว่าประเทศใหญ่ๆ จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา”

สำหรับเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงรายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น 

กกร. ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตแผ่ว หากประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ขยับ อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากตัวเลขติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิตเพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ 

 

“ทั้งนี้ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”

 

นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อเไปเนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูงและเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท

 

รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคตตามนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากว่าว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับขึ้นค่าแรง

 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs 

 

“ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน ดังนั้นมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง” 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมกกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ตามเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจประเทศ จะขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกหดตัว 1.0-0.0%  และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

กกร. ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตแผ่ว หากประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ขยับ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ จึงต้องให้ความสำคัญในการดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความสะดวกปลอดภัย สร้างแรงจูงใจดึงดูดให้ต่างชาติเลือกเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ปัญหาคอขวดเรื่องการเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้กับสายการบินของไทย ยังเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาสายการบินให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ 

นอกจากนี้ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงาน จากอานิสงส์ของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ภาครัฐจึงต้องเร่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนโดยเฉพาะการปฏิรูปกฏหมาย กฏระเบียบเพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เช่นการปรับปรุงปฏิรูปการขอวีซ่าให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ในตอนนี้ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม”

ขณะที่ในทางตรงกันข้าม หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า มีการประท้วงและการเมืองขาดเสถียรภาพไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ในเดือน ส.ค. อาจทำให้ต่างชาติตัดสินใจไม่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงปลายปี กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้นให้จีดีพีปรับลดลงมาที่ 2.0-2.5% รวมทั้งยังมีผลกระทบระยะยาวคือ ต่างชาติเปลี่ยนใจไม่ลงทุนในไทยแต่หันไปหาคู่แข่งในภูมิภาคนี้แทน”