กกร.คงจีดีพีปีนี้โต 3-3.5% รับท่องเที่ยวฟื้น

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มองเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกระทบการส่งออก ขณะที่จีดีพีปีนี้ยังคงคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% การส่งออกติดลบ 1-0% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2%

ประธานสมาคมธนาคารไทย ผยง ศรีวณิช ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ระบุ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน 

นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2566 จะหดตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่ประชุม กกร.กังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP จะอยู่ที่ 3-3.5% การส่งออกหดตัวติดลบ 1-0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.7-3.2%

จับตาขึ้นค่าแรง-ดีเซล กดดันเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ กกร. ยังกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นสัดส่วนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นกว่าในอดีต และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้ง 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีปัจจัยกดดันที่อาจอยู่สูงต่อเนื่องจากการส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยน และยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน 

นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ดังนั้นมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง