‘4 ตระกูลใหญ่ในไทย’ ทำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง?

‘4 ตระกูลใหญ่ในไทย’ ทำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง?

สื่อนอกรายงาน “4 ตระกูลใหญ่” กินสัดส่วนตลาดหุ้นไทย 1 ใน 4 หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด พร้อมตั้งคำถาม ไทยควรเพิ่มการกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงหรือไม่ มองเป็นความท้าทายของ “ว่าที่รัฐบาลพิธา” หากต้องการทลายทุนผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ

Key Points:

  • สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) วิเคราะห์ชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไทยแบบ “ยกเครื่อง” อย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดทำมาก่อน
  • รายงานจากดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ระบุว่า ไทยมีมหาเศรษฐีมากขึ้น โดยมีเศรษฐีในกลุ่ม “ทุนพวกพ้อง” 5 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐและการให้สัมปทาน
  • หากพรรคก้าวไกลสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ จะช่วยให้ไทยเติบโตเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่รอการสนับสนุนอย่างสตาร์ตอัป ส่งออก คราฟต์เบียร์ ฯลฯ จะได้รับประโยชน์ด้วย

 

  • ภาพรวมความมั่งคั่ง “ทุนใหญ่” โตวันโตคืน เพิ่มรอยถากทางชนชั้น

ข้อมูลจากดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) เปรียบเทียบความร่ำรวยของมหาเศรษฐีในแต่ละประเทศต่อสัดส่วน GDP โดยแบ่งเป็นมหาเศรษฐีที่ความมั่งคั่งจากการทำธุรกิจทั่วไป และมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งจากการทำธุรกิจที่มีความเป็น “ทุนพวกพ้อง” พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 15 ของโลก ที่มีมหาเศรษฐีร่ำรวยจากธุรกิจแบบทุนพวกพ้องหรือทุนผูกขาด คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนมหาเศรษฐีทั้งหมด 18 เปอร์เซ็นต์ 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีในกลุ่มนี้ ไม่สามารถร่ำรวยได้จากการทำธุรกิจปกติเหมือนคนทั่วๆ ไป จะเป็นอภิมหาเศรษฐีได้ แปลว่า ต้องมีกำไรในการทำธุรกิจเกินปกติ ซึ่งตามตำราเศรษฐศาสตร์แล้วคนกลุ่มนี้จะใช้ทรัพย์สิน 7 อย่างในการทำธุรกิจ ได้แก่

  • การเงิน
  • สัญญาภาครัฐ
  • โครงสร้างพื้นฐาน
  • ที่ดิน
  • ทรัพยากรธรรมชาติ
  • ทรัพย์สินทางปัญญา
  • แพลตฟอร์ม

หากต้องการกระจายเม็ดเงินไปยังเซคเตอร์อื่นๆ และทำให้ทุนผูกขาดมีบทบาทน้อยลง รัฐบาลไทยต้องเข้าไปสนับสนุนธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น ธุรกิจเกิดใหม่อย่าง “สตาร์ตอัป” ที่ตลอดมา มักติดปัญหาเรื่องเงินลงทุนจึงไม่สามารถเติบโตไปมากกว่านี้ได้ และท้ายที่สุด ต้องขายกิจการให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ด้านธุรกิจส่งออกเองก็ต้องเจอกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า รวมถึงธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่ก็ถูกฉุดรั้งด้วยข้อกฎหมายบางประการ เช่น ธุรกิจคราฟต์เบียร์ เป็นต้น

ประธาน TDRI ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาจากนโยบายพรรคก้าวไกลแล้ว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ภาคธุรกิจอื่นๆ มีพื้นที่ในการเติบโต ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการลดบทบาทกลุ่มทุนใหญ่ รัฐบาลต้องจับตาดูการทำธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการส่งเสริมความเป็นกลุ่มทุนพวกพ้องอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และการเจรจาสัมปทาน

 

  • ความท้าทายของว่าที่รัฐบาลก้าวไกล และการเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนใหญ่

สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชีย (Asia Nikkei) วิเคราะห์ภูมิทัศน์การเมืองไทยในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า โครงสร้างการเมืองไทยผ่านการรัฐประหารมาถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ.1932 ซึ่งการแทรกแซงของกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจและสังคมไทย คนรวยมีจำนวนเพียงหยิบมือ ส่วนคนจนและคนรากหญ้ากลายเป็นกลุ่มประชากรหลักของประเทศ

ความท้าทายของว่าที่รัฐบาลพิธา คือ การนำเสนอนโยบายทลายทุนผูกขาดเพื่อกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดทำมาก่อน รอยเตอร์มองว่า การแทรกแซงของกองทัพในอดีต มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ได้เติบโต ร่ำรวย สร้างความมั่งคั่งมาตลอดหลายทศวรรษ จึงเป็นโจทย์ยากของพรรคก้าวไกลว่า จะสามารถทำตามที่ตนหาเสียงไว้ได้หรือไม่

ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่หลักๆ ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดหุ้นไทยรวมกัน 20 เปอร์เซ็นต์ 4 ตระกูล ใน 4 ตระกูลนี้มีธุรกิจภายใต้ชายคาอยู่ 4 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน คือ ค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ อาหาร และโทรคมนาคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าหลักทรัพย์ 1.51 ล้านล้านบาท ประกอบธุรกิจการเกษตรและอาหาร ค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต อีคอมเมิร์ซ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ 
  • ตระกูลรัตนาวะดี มีมูลค่าหลักทรัพย์ 1.43 ล้านล้านบาท ประกอบธุรกิจพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม
  • ตระกูลจิราธิวัฒน์ มีมูลค่าหลักทรัพย์ 6.36 แสนล้านบาท ประกอบธุรกิจค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ อาหาร ฯลฯ
  • ตระกูลสิริวัฒนภักดี มีมูลค่าหลักทรัพย์ 2.01 แสนล้านบาท ประกอบธุรกิจค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ

โดยกลุ่มที่มีมูลค่าความมั่งคั่งมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มซีพี จากการประกอบธุรกิจโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และยังมีธุรกิจร้านสะดวกซื้ออีกหลายพันสาขา รวมถึงการถือครองหุ้นในประเทศจีนบางส่วนด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากว่าที่รัฐบาลก้าวไกลทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้สำเร็จ จะช่วยให้การเติบโตของ GDP สูงขึ้น ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ยกระดับการแข่งขัน กระจายความมั่งคั่งได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง: Asia NikkeiReutersThe EconomistYouTube