‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

อาณาจักรน้ำเมา ด่านแรก “ก้าวไกล” ทลายทุนผูกขาด สะเทือน “ตระกูลดัง-เจ้าสัว” ทั้ง “บุญรอดบริวเวอรี่-ไทยเบฟ-กลุ่มทีเอพี-สยาม ไวเนอรี่-กราน มอนเต้-รีเจนซี่-คาราบาว กรุ๊ป” มั่งคั่งกว่า 5 แสนล้านบาท วงในชี้ข้อจำกัดสูง หวั่นเอสเอ็มอี หน้าใหม่ไม่เกิด ติดล็อกกฎหมายห้ามโฆษณา

Key points :

  • ตระกูลดัง เจ้าสัว คือผู้ครองอาณาจักร "น้ำเมา" จนสร้างความมั่งคั่งระดับ "หมื่น-แสนล้านบาท" 
  • หาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีผลบังคับใช้ ไม่แค่หน้าใหม่ เข้าสู่สมรภูมิเหล้าเบียร์ แต่ยังมีทุนข้ามชาติ จ่อหน้าประตูมาลงทุนในไทย
  • รายใหญ่ ยังไงต้องป้องขุมทรัพย์ "แสนล้านบาท" สุดฤทธิ์ 
  • คราฟต์เบียร์ อาจคึกคักจากรายย่อย แต่บิ๊กเนม มีความรู้ และ "รอ" พัฒนาสินค้าใหม่ไม่ต่างกัน
  • กฎหมาย "ห้าม" โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ "ล็อก" ผู้เล่นรายใหม่แจ้งเกิด 

พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงอันดับ 1 และกำลังตั้ง “รัฐบาล” ที่เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี จะขับเคลื่อนนโยบาย พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นหนึ่งในนโยบาย “ทลายทุนผูกขาด” โดยมองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเหล้าและเบียร์มีผู้ประกอบการไม่กี่ราย เทียบกับญี่ปุ่นที่ตลาดใกล้เคียงกันราว 2 แสนล้านบาท มีผู้ผลิต 50,000 แบรนด์ และส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี

  • รู้จัก ‘ยักษ์สุรา-เบียร์-ไวน์’

ภารกิจทลายทุนผูกขาดครั้งสำคัญของเมืองไทย เริ่มต้นด้วยธุรกิจ “น้ำเมา” ซึ่งกลุ่มที่จะสะเทือน ได้แก่ สุราแช่ เช่น เบียร์ ไวน์ ฯ แล้วทุนใหญ่เป็นใครบ้าง

1.เก่าแก่สุดยกให้ “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือค่ายสิงห์ ผู้ผลิตเบียร์ “รายแรก” โดยตระกูล “ภิรมย์ภักดี” เคลื่อนกิจการยาวนานกว่า 90 ปี จากรุ่นแรกสู่ทายาทรุ่น 3-4 ทั้ง "สันติ-ภูริต ภิรมย์ภักดี" รวมถึงวงศาคณาญาติในตระกูลร่วมบริหาร สร้างรายได้ระดับ “2 แสนล้านบาท”

2.ใหญ่สุด “ไทยเบฟเวอเรจ” หรือค่ายช้าง ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่พลิกชะตาชีวิต จากทำค้าขายข้าวของให้โรงงานสุราบางยี่ขัน จึงได้รู้จัก “จุล กาญจนลักษณ์” ผู้ปรุงสุราแม่โขง สร้างโอกาสในธุรกิจสุรา เมื่ออาจหาญซื้อกิจการโรงงานสุราของ “ธารน้ำทิพย์” ที่ขาดทุน และยังเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดสงครามแย่งชิงธุรกิจสุราในอดีตกับกลุ่มสุรามหาราษฎร แย่งขุมทรัพย์น้ำเมา เผชิญภาวะ “ขาดทุน” ที่สุด 2 ทุนใหญ่ ต้องรวมตัวกันเพื่ออยู่รอด แต่ขณะนั้นต้องแลกกับการแบก “หนี้” กว่า 20,000 ล้านบาท

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

เจ้าสัว-ทุนใหญ่-ส่วนแบ่งตลาดเหล้า-เบียร์

วิสัยทัศน์ไกล พลิกวิกฤติเป็นโอกาส แปรขาดทุนสู่กำไร สร้างความยิ่งใหญ่เป็นราชันย์น้ำเมา ปัจจุบันสร้างรายได้กว่า 2.7 แสนล้านบาทต่อปี มั่งคั่งด้วย “กำไร” กว่า 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี(ปีงบประมาณ2565 : ต.ค.64-ก.ย.65)

“เจ้าสัวเจริญ” เกิดจากเหล้า แต่ “เบียร์” เป็นอีกสินค้าที่สร้างจุดเปลี่ยน จากเดิมรับบทเป็นพันธมิตรกับ “คาร์ลสเบิร์ก” เบียร์เบอร์ 4 ของโลก ภายหลังแยกทางกัน จนปั้นสูตรเบียร์ สร้างแบรนด์ “ช้าง” ทำตลาด

3.ปี 2538 เบียร์เบอร์ 2 ของโลก เข้ามาขอแบ่งเค้ก “ไฮเนเก้น” จากเนเธอร์แลนด์ ขอเป็นผู้ผลิตน้ำเมารายที่ 3 เข้ามาแข่งขันในตลาดเบียร์เมืองไทย ภายใต้บริษัท ไทยเอเชีย แปซิกฟิก จำกัด ปัจจุบันคือ “กลุ่มทีเอพี” และยืนหนึ่งในตลาดเบียร์พรีเมี่ยมด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด

4.“ตระกูลอยู่วิทยา” แม้จะเป็นเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลังของโลก มีแบรนด์ “กระทิงแดง” ทำตลาดในไทย และ “RedBull” เป็น Global Brand แต่ลูกหลานของตระกูลอย่าง “เฉลิม อยู่วิทยา” ยังแตกไลน์ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2525 ตั้ง "บริษัท สยาม ไวเนอรี่ จำกัด” จนเป็นผู้ผลิตไวน์อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียด้วยและนำเข้าสินค้าไวน์จากต่างแดนมาทำตลาดในประเทศ

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

ยิ่งกว่านั้น บริษัทยังพัฒนาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากองุ่นแบรนด์ “สปาย ไวน์คูลเลอร์”(SPY wine cooler) สร้างทางเลือกให้นักดื่มด้วย ทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 180 ล้านขวดต่อปี ภาพรวมบริษัททำเงินหลัก “พันล้านบาท” กำไรหลักหลายสิบล้านบาท หากรวมทั้งกลุ่มยังทำเงินขยับสู่ “หมื่นล้านบาท” กำไรหลักหลายร้อยล้านบาทต่อปี

5.“กราน-มอนเต้” (GranMonte) ไร่องุ่นและแหล่งผลิตไวน์(Winery)ของ “วิสุทธิ์-สกุณา โลหิตนาวี” จากพัฒนาพื้นที่ 100 ไร่ อโศกวัลเล่ย์ ปลูกองุ่นจนรังสรรค์ไวน์ไทยแท้มา 20 ปี เสิร์ฟนักดื่มด้วยกำลังการผลิต 1 แสนขวดต่อปี อนาคตมองการเพิ่มกำลังผลิต เพื่อทำไวน์ไทยแข่งไวน์ในเวทีโลก 

6.บรั่นดีไทย ที่แพงแต่ขายดีจนขาดตลาด คือ “รีเจนซี่” เป็นอีกทุนที่อยู่ในตลาดสุรามายาวนานจากผู้ริเริ่มธุรกิจ “ณรงค์ โชคชัยณรงค์” ในฐานะแบรนด์ท้องถิ่นหรือ Local ที่โต รวยเงียบ มีรายได้ทั้งกลุ่มหลัก “หมื่นล้านบาท” ส่วน “กำไร” รวมหลัก “พันล้านบาท” เฉพาะ “โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ” ผู้ผลิตรีเจนซี่ ทำเงินกว่า 9,000 ล้านบาท กำไรมากกว่า 900 ล้านบาท

7.เจ้าพ่อเสถียร เสถียรธรรมะ แห่งคาราบาว กรุ๊ป ผู้ขอต่อกรตลาดเหล้า และปี 2566 กำลังจะลงสนามตลาดเบียร์ ต่อยอดจากโรงเบียร์ตะวันแดง หรือรูปแบบบริวผับ

เสถียรทุ่มเงินราว 3,000 ล้านบาท ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล้าที่จังหวัดชัยนาท เปิดตัว “เหล้าขาว” แบรนด์ “ข้าวหอม” ปัจจุบันมีสินค้าหลากหลาย ทั้งวิสกี้ บรั่นดี สาเก โซจู ฯ ซึ่งสร้างยอดขายเติบโตอย่างดี

จากเครื่องดื่มชูกำลัง “หมื่นล้าน” มาสู่น้ำเมา และจะมีเบียร์ “เสถียร” คาดว่าอาณาจักรธุรกิจของบริษัทจะสร้างรายได้ “แสนล้านบาท” ต่อไป

หากประเมินมูลค่าความมั่งคั่งของผู้ประกอบการข้างต้น ทำเงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

  • "ปิติ" ทายาทสิงห์ เห็นด้วย “สุราก้าวหน้า”

นายปิติ ภิรมย์ภักดี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จบลง โดยพรรคก้าวไกลชนะคะแนนเสียงอันดับ 1 ถือเป็น “มิติใหม่” ที่เกิดขึ้น จากนั้นมีผู้ถามความเห็นเกี่ยวกับ “สุราก้าวหน้า” ว่าคิดอย่างจึงตอบว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างแน่นอน แต่การค้าเสรี บริษัทมี “คู่แข่ง” มาโดยตลอด จึงต้องปรบแผนกันไป และ “บุญรอด” มีธุรกิจอื่นๆนอกเหนือจากเบียร์

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

ปิติ ภิรมย์ภักดี

สำหรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มบุญรอด ปัจจุบันมี “เบียร์” เป็นธุรกิจหลัก(Core Business)ทำรายได้ระดับ “แสนล้านบาท” ต่อปี ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหาร อสังหาริมทรัพย์ การผลิตบรรจุภัณฑ์(โรงงานขวดแก้ว 1 ใน 4 รายใหญ่) เป็นต้น

"ผมเห็นด้วยมาแต่เริ่มแล้วครับ"

  • พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าหนุนพัฒนาธุรกิจ

ด้านนายธนากร คุปตจิตต์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย(TABBA) ที่ปรึกษาสมาคมฯ และผู้คร่ำหวอดในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากว่า 30 ปี กล่าวว่า เห็นด้วยกับพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เนื่องจากจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พัฒนาเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องให้ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ส่งเสริมเกษตรก้าวหน้า ต่อยอดการท่องเที่ยว และส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐด้วย

หากย้อนดูในอดีต สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป ทำให้เกิดสุราผลไม้ประเภทไวน์ออกสู่ตลาด โดยนำผลไม้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่หรือจีไอ มาสร้างจุดขาย เช่น ไวน์ข้าวเหนียวดำ ไวน์หมากเม่า ไวน์มะม่วงฯ สอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน ทำให้วัตถุดิบผลไม้มีคุณภาพสูง รสหวาน นำมาผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ได้ง่าย รวมถึงการเกิดสุราแช่ต่างๆ

“พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะทำให้เกิดการพัฒนา 3-4 มิติ ช่วยด้านเศรษฐกิจ ชนิดสุราแช่ ไวน์ผลไม้ เหล้าผลไม้ ทำให้เกิดการเกษตรแปรรูป ได้มูลค่าเพิ่ม กระตุ้นการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่อง โรงแรม การขายของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น”

  • คราฟต์เบียร์มาแน่!

นายธนากร กล่าวอีกว่า หากพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าผ่านความเห็นชอบ คาดการณ์ “คราฟต์เบียร์” หรือเบียร์โฮมเมด ผลิตในครัวเรือน และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก จะถูกพัฒนาออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพราะผู้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ตลาดมีความต้องการรองรับ ซึ่งไม่เพียงรายเล็กพร้อมออกคราฟต์เบียร์ แต่ผู้เล่นรายเดิมในตลาด สนใจและพร้อมผลิตคราฟต์เบียร์เช่นกัน

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

การผลิตคราฟต์เบียร์ใช้เงินลงทุนไม่มาก เริ่มหลักพันบาท ทดลองทำเล็กๆในครัวเรือน โดยการต้ม ใส่ยีสต์ ฮอปส์ ฯ ปรุงแต่ง แต่ความยากคือควบคุมคุณภาพ เนื่องจากปัญหามลภาวะ หากยีสต์มีสิ่งสกปรกจะก่อให้เกิดพิษได้ และอันตราย อีกอุปสรรคคือต้นทุนฮอปส์ ยีสต์ค่อนข้างราคาสูง

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่มีแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับ “หมื่น” ตัวอย่างแต่ละพื้นที่จะมีการผลิตสาเกท้องถิ่นออกสู่ตลาด เป็นต้น

“เป็นการสร้างโอกาสพัฒนาสินค้าคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย” 

  • ผลกระทบทุนใหญ่-ทุนข้ามชาติแย่งตลาด

ภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท มีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเบียร์เกือบ 3 แสนล้านบาท สุราราว 2 แสนล้านบาท ขุมทรัพย์ใหญ่ หากกฎหมายผ่านสภาฯ ยอมรับว่า “ทุนใหญ่” ผู้ประกอบการรายเดิม จะได้ผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะจะถูกแบ่งเค้ก จึงต้องมีการปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่าจับตา คือผลกระทบจากแบรนด์และทุนข้ามชาติ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย ทั้งยักษ์ใหญ่ “จีน” และ “อินเดีย” มีศักยภาพทั้งเงินทุนมหาศาล แบรนด์แกร่ง ส่วนยุโรป เน้นผลิตสุราสี ยังให้ความสำคัญกับแหล่งผลิต เช่น วิสกี้ ต้องยกให้สก๊อตช์วิสกี้ ผลิตจากสก๊อตแลนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายเล็ก เอสเอ็มอี คือไม่กล้าลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อยกระดับการผลิต จึงน่าจับตาว่าเอสเอ็มอีไทย จะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

  • กฎหมายห้ามโฆษณา “ล็อก” หน้าใหม่แจ้งเกิด

อย่างไรก็ตาม หากกฏหมายสุราก้าวหน้าออกมา สิ่งที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ยัง “ติดล็อก” กฎหมาย มาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ “ห้าม” ไม่ให้โฆษณา หรือแสดงชื่อแบรนด์ ตลอดจนการสื่อให้เห็นถึงการชักจูง โน้มน้าวให้เกิดการดื่มน้ำเมา

นายธนากร กล่าวว่า หากผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าตลาดได้ จะบอกผู้บริโภค สร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างไร เมื่อกฎหมายห้ามไว้ ทั้งโปรโมท สื่อสารไม่ได้ ย้อนอดีตมีการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ มีเม็ดเงินสะพัดในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา รวมถึงการสนับสนุนรายการกีฬาต่างๆ เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ ฯ

ส่วนประเด็น “ฉลากสุรา” ไม่สามารถบอกแม้กระทั่งเหล้า เบียร์ได้รับรางวัลอะไรมาบ้าง บอกได้เพียง “ยี่ห้อ” ประเภทสุรา และเปอร์เซ็นแอลกอฮอล์หรือดีกรี รวมถึงโรดโชว์ ขายออนไลน์ไม่ได้ ฯ จึงต้องวางขายบนชั้นวาง(เชลฟ์)แบบแห้งๆ

“ผู้ประกอบการผลิตได้ แต่จะนำเข้าทำตลาด บอกสินค้าให้ผู้บริโภครับรู้ต้องโฆษณา ประชาสัมพันธ์ แต่กฎหมายห้าม ติดล็อกตรงนี้ บล็อกรายใหม่หมดสิทธิ์โต ดังนั้นจึงต้องแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกี่ยวกับการโฆษณาก่อน”

‘ก้าวไกล’ เขย่าอาณาจักรเจ้าสัว  ภารกิจทลายกำแพง ‘ผูกขาดสุรา’

ธนากร คุปตจิตต์

ทั้งนี้ เทียบญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมากกว่าไทย แต่ 2 เรื่องที่ทำในประเทศ คือการสร้างวินัยการดื่ม การตระหนักรู้ บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ไม่ใช่ผู้ผลิต เช่น บ้านเราหากขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่ากำหนด ต้องเอาผิดกับผู้ขาย เมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ บังคับใช้กฎหมายกับคนเมาแล้วขับ เป็นต้น

“ต้องจัดการให้หนักกับผู้กระทำผิดกฎหมาย”

เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 บังคับใช้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ซึ่งมีเงินบำรุงจากรานได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา 2% จากปีแรกจัดเก็บได้ 800 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนฯเติบโตมีเงินกว่า 4,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่ม ทั้งจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และการขายเชิงปริมาณของผู้ประกอบการ ขณะที่อุบัติเหตุเมาแล้วขับมีจำนวนลดลงหรือไม่ หากตอบคำถามดังกล่าวได้ เม็ดเงินดังกล่าวควรได้รับเพื่อนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น