กกร. คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวครึ่งปีหลัง จับตาต้นทุนสูง ภัยแล้ง กดดันเงินเฟ้อ

กกร. คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวครึ่งปีหลัง จับตาต้นทุนสูง ภัยแล้ง กดดันเงินเฟ้อ

กกร. คาดครึ่งปีหลังส่งออกกลับมาขยายตัว เศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัว ชี้ยังต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุน เตรียมทยอยปรับราคาสินค้าเพิ่ม 5-10% จับตาภาวะภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ซ้ำเติมราคาอาหารให้ปรับตัวสูงขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยผลการประชุมกกร. ว่า กกร. มองภาพเศรษฐกิจประเทศหลักทยอยฟื้นตัว โดย GDP ของจีนและสหรัฐในไตรมาสแรกต่างขยายตัว จากภาคบริการที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตที่ชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 1 เริ่มปรับตัวดีขึ้นในตลาดสหรัฐ ซึ่งแม้ว่ายังเผชิญปัญหาสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนมากนัก 

ทั้งนี้ สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลักมองว่าเป็นผลต่อภาคการส่งออกไทย ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 

“อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัจจัยกดดันจากภาวะต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มอาจปรับตัวลดลงช้ากว่าที่คาดไว้เนื่องจากราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด” 

ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าอีก 5-10% เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนค่าไฟซึ่งอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย ต่อไปในระยะข้างหน้า และทำให้ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป 

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าซึ่งอาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

“กกร. มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญ โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี”

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงและราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

“โดย กกร.เตรียมจัดทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฯโดยเร็วที่สุด คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า  ขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้งและเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจังหวัดจันทบุรี”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ GDP ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก

“โดย กกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เท่ากับครึ่งก่อน โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่3.0-3.5% การส่งออก หดตัว -1.0-0.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.7-3.2%”

กกร. คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวครึ่งปีหลัง จับตาต้นทุนสูง ภัยแล้ง กดดันเงินเฟ้อ

ชี้ 6 ประเด็นเศรษฐกิจถึงพรรคการเมือง

สืบเนื่องจากที่จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ในวันที่ 14 พ.ค. 2566 และหลายพรรคการเมืองอยู่ระหว่างการหาเสียงในช่วงนี้ โดย กกร. จึงได้จัดทำหนังสือข้อเสนอถึงพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยมี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

2. ด้าน Ease of Doing Business  เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย

4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว 

5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)