กกร. ชี้ค่าไฟไม่ควรเกินหน่วยละ 4.40 บาท จี้นายกฯ ให้ควาามเป็นธรรม

กกร. ชี้ค่าไฟไม่ควรเกินหน่วยละ 4.40 บาท จี้นายกฯ ให้ควาามเป็นธรรม

กกร. ลงนามครบ 3 ท่าน เตรียมยื่น วันที่ 10 เม.ย. 2566 คาดหวังจะมีทางออกที่ดีเพื่อลดปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงเกินความเหมาะสมเป้าหมายไม่ควรเกินหน่วยละ 4.40 บาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่า Ft เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)  ได้ลงนามครบ 3 ท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่เกินเวลา 12.00 น. วันที่ 10 เม.ย. 2566 จะยื่นตามระบบไปถึง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ควรพิจารณาทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยมีเหตุผล ดังนี้

1. จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น  การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง พฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

"ราคานำเข้า LNG จนถึงปัจจุบันต่ำกว่า 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แล้วยังจะใช้สมมติฐานที่ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูสำหรับเดื่อนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 เพื่ออะไร ดังนั้น คาดหวังจะมีทางออกที่ดีเพื่อลดปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงเกินความเหมาะสมเป้าหมายไม่ควรเกินหน่วยละ 4.40 บาท"

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการ กำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถ บรรเทาผลกระทบต่อทุก ภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ