กูรูชี้ ธปท. ยังไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยหากเทียบเดือนต่อเดือนติดลบไปราว 0.71% ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลงค่อนข้างมาก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยหากเทียบเดือนต่อเดือนติดลบไปราว 0.71% ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลงค่อนข้างมาก


“การลดลงอย่างรวดเร็วของเงินเฟ้อต้องติดตามว่า จะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) หรือไม่ เพราะเดิม กนง.ห่วงว่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้า และกังวลว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น”


ทั้งนี้ แม้ “เงินเฟ้อ” ที่ออกมา จะคลายความกังวลลงไปบ้าง แต่สถานการณ์ข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก โดยเฉพาะ กว่าจะถึงรอบการประชุม กนง. ในช่วงเดือนส.ค. ซึ่งใช้ระยะเวลาอีก 2 เดือน ที่อาจมีสถานการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้น ดังนั้น ยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป


อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ยังไม่จบรอบการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยถูกทิ้งระยะ อาจไม่ได้มีการขึ้นต่อเนื่อง อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์และกลับมาขึ้นดอกเบี้ยใหม่อีกครั้งได้ เหมือนการดำเนินนโยบายการเงินในต่างประเทศ
“ภาพวันนี้ สะท้อนให้เราเห็นว่า Demand pull inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ ไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่คิด ดังนั้นเรายังคงไม่ปรับมุมมอง และยังเชื่อว่ากนง. ยังจะขึ้นดอกเบี้ยได้อยู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยติดกัน เพราะแรงกดดันเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ตัวหลัก หลังจากนี้ ธปท. อาจดูน้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น และสุญญากาศจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลักได้

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ มีน้อยลงกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานสูงจากปีก่อน ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงเร็ว และหากดูเดือนต่อเดือน พบว่าเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้น หรือขึ้นต่ำมากเพียง 0.1%ต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นหากเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่าท้ายที่สุดอาจส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงไปอยู่ระดับต่ำเพียงระดับ 1% ต้นๆได้


อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง แต่บนความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อว่า กนง.อาจต้องการเก็บกระสุน หรือ ต้องการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะขึ้นได้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ไปสู่ 2.25% ในปีนี้


“จากการแถลง กนง.ล่าสุดเชื่อว่า กนง.อยากขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จนถึงรอบประชุม ส.ค.และหากเงินเฟ้อลงมาเรื่อยๆ ตรงนี้อาจต้องมาช่างน้ำหนักว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ แต่ท่าที กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดี การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ดังนั้นเรายังมองว่าโอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่แค่1ครั้งในปีนี้ เพราะสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นก็คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก